xs
xsm
sm
md
lg

แนะเปิดเสรีการศึกษาอาเซียน ไทยต้องปรับตัว-เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ
อดีตเลขาธิการอาเซียน แนะไทยต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิดหลังเปิดเสรีอาเซียน โดยเฉพาะต้องภาษา มั่นใจหากสามารถพัฒนาได้ดีขึ้นสัก 25% สามารถแข่งขันในอาเซียนและสากลได้ ย้ำต้องเร่งสร้างคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่ประถม - มัธยม เป็นช่วงสำคัญต้องวางรากฐานให้ดีก่อนต่อยอดไปอุดมศึกษา ขณะที่ผลการศึกษาผลกระทบเปิดเสรีอาเซียน ช่วยคุณภาพการศึกษาเอกชนสูงขึ้น แต่ส่งผลให้ต้นทุนการศึกษาเพิ่มเป็นภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) จัดสัมมนาวิชาการ โครงการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการศึกษาของอาเซียนต่อการจัดการศึกษาเอกชนของไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สช. กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ปาฐกถาหัวข้อ “โอกาสในการลงทุนจัดการศึกษาเอกชนของไทยในประเทศสมาชิกอาเซียน และการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาเอกชนของไทย สำหรับเปิดเสรีทางด้านการศึกษาของอเซียน” ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณ 1 ใน 5 ของงบประมาณประเทศ ลงทุนด้านการศึกษาซึ่งมากกว่าประเทศใดในอาเซียน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับน่าเป็นห่วง และในปี 2559 ก็ใช้งบกว่าร้อยละ 20 ของงบทั้งประเทศจัดการศึกษา จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการไหลเวียนแรงงานใน 8 สาขาอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่าสิ่งที่วิกฤตมากที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ ขาดทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาหลักของอาเซียน หากเราพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นแค่ 25% เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับประเทศอาเซียนและสากลได้อย่างแน่นอน

“ประเทศไทยอยู่ในบริบทที่เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวแล้ว ไม่ต้องพึ่งใคร และเราไม่เก่งภาษาอังกฤษ เพราะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบกาลาปากอสที่ปิดตัวเองไม่ยอมปรับตัวทำให้ไม่สามารถที่จะแข่งขันกับใครได้ ดังนั้น หากต้องการโอกาสในการแข่งขันและลงทุนต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ ไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียวแต่จะต้องไปดูโลกภายนอกด้วย และมองว่าหน่วยงานการศึกษาที่พร้อมจะแข่งขัน มีเพียงโรงเรียนนานาชาติและมหาวิทยาลัยอินเตอร์เท่านั้น” นายสุรินทร์ กล่าว

นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สายโซ่การศึกษาที่อ่อนที่สุด คือ การสร้างคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา เพราะหากวัตถุดิบไม่ดีคงไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศในระดับอุดมศึกษาได้ โดยเฉพาะสาขาวิชาชีพนั้นมีความสำคัญและเหมาะกับเศรษฐกิจไทย คือ สาขาด้านการบริการ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข คมนาคม การท่องเที่ยว มากกว่าการผลิตสินค้า เพราะส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องยกระดับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโยลีและการพัฒนานวัตกรรมทางวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาเรายังสนับสนุนไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องจัดงบฯในส่วนนี้เพิ่ม รวมทั้งต้องมีกองทุนสนับสนุนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้วิจัยได้สรุปผลกระทบที่จะเปิดเสรีทางการศึกษาของอาเซียน ต่อการจัดการศึกษาเอกชนของไทย โดยสรุปว่าภาพรวมของการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาเอกชนของไทยสูงขึ้น แต่จะทำให้ต้นทุนในการจัดสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้นักเรียนและผู้ปกครองมีภาระค่า ใช้จ่ายในการศึกษามากขึ้นด้วย นอกจากนี้ เห็นว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษามีมาตรฐานสากล อาทิ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย และโรงเรียนในเครือศาสนาคริสต์จะสามารถแข่งขันต่อไปได้ ในขณะที่โรงเรียนปานกลางและโรงเรียนที่อ่อนแอต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และมีผลให้โรงเรียนที่อ่อนแอส่วนหนึ่งถอดใจจนต้องยุบเลิกกิจการ ซึ่งจะมีประมาณ 10 - 30% ขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการ ส่วนโอกาสในการจัดการศึกษาในระบบมีน้อยเพราะคุณภาพการศึกษาไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ที่โดดเด่น คือ หลักสูตรระยะสั้นด้านการบริการ อาทิ อาหาร สปา นวดแผนไทย
 
 
 
ติดตาม  Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น