xs
xsm
sm
md
lg

วิธีแก้ปัญหาลูกติดทีวี ไอแพด คอมพิวเตอร์ มือถือ ฯลฯ/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การเป็นพ่อแม่ของลูกวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากสังคมสมัยนี้แวดล้อมไปด้วยสื่อเทคโนโลยีที่ชักชวนให้ลูกหลงไปในทางที่ผิด สิ่งหนึ่งที่ลูกวัยรุ่นต้องการ คือการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนว่าตนเองเป็นคนทันสมัยและไม่เชย ซึ่งการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยดูเหมือนจะเป็นแฟชั่นที่นิยม และหากไม่มีใช้อาจดูเหมือนเชยและไม่ได้รับการยอมรับ การใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูทีวี การเล่นวิดีโอเกม การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯทำให้ลูกพลาดสิ่งสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำการบ้าน หรืออาจละเลยงานที่รับผิดชอบ เป็นต้น

จากรายงานของมูลนิธิครอบครัวสถาบันไคร์เซอร์ ของสหรัฐอเมริการะบุว่า มากกว่า 5 ปีมาแล้ว ที่เด็กๆอายุ 8 - 18 ปีเพิ่มปริมาณการเสพสื่อเทคโนโลยีต่างๆ จากการใช้เวลา 1 ชั่วโมง 17 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 6 ชั่วโมง 21 นาที ถึง 7 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับการทำงานซึ่งเราใช้ใน 1 วันทีเดียว แต่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เด็กๆ ใช้เวลาถึง 7 วัน ในการเสพสื่อต่างๆ เหล่านี้ การใช้เวลาจากจอภาพนานๆ มีผลต่อลูกอย่างไร หมอทางด้านเด็กกล่าวว่าการจ้องจอภาพเป็นเวลานานทำให้เด็กขาดความกระตือรือร้นและไม่กระฉับกระเฉงตามวัยที่ควรเป็น ซึ่งการทำกิจกรรมต่างๆ ในการขยับเขยื้อนร่างกายนั้นช่วยให้เด็กๆมีความรู้สึกดีกับตัวเอง นอนหลับสบาย และมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น จอภาพต่างๆ ที่กล่าวถึงในที่นี้คือ คอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการเล่นเกมต่างๆทางอินเทอร์เน็ต ให้เรามาดูว่าวิธีช่วยเด็กๆ ให้ลดการจ้องจอภาพเป็นเวลานานๆ สามารถทำได้อย่างไร

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ถึงแม้ว่าดูเหมือนลูกวัยรุ่นจะไม่สนใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังคงเป็นต้นแบบที่สำคัญที่สุดในชีวิตลูก ดังนั้น เราไม่สามารถบอกให้ลูกหยุดเสพเทคโนโลยีต่างๆ ได้หากตัวเราเองยังคงดูทีวีจนดึกดื่น ส่งข้อความในขณะขับรถหรือมีมือถือไว้ข้างตัวขณะทานอาหาร จิตแพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า หากเราลดปริมาณการดูหนังลง เด็กๆจะมีพฤติกรรมการติดหนังลดลงด้วย ดังนั้น กฎข้อบังคับต่างๆที่ตั้งขึ้นมากมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือสื่อสารนั้น ตัวเราเองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

2. เตือนลูกถึงเวลาที่กำหนด การงดไม่ให้ลูกเลิกเล่นเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่สำคัญคือเตือนให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ บางครั้งอาจต้องเตือนลูกอย่างใจเย็นๆ ว่า “แม่คิดว่าลูกใช้เครื่องมือสื่อสารมากเกินไปแล้ว” ดังนั้น ถึงเวลาควรหยุดและทำอย่างอื่นบ้างได้แล้ว

3. สร้างแรงจูงใจให้ลูกออกกำลังกาย เด็กวัยรุ่นหลายคนเลิกเล่นกีฬาช่วงวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างแรงจูงใจให้ลูกเลือกเล่นกีฬาที่ชอบ หากเราอยากให้ลูกเล่นบาสเกตบอล แต่ลูกอยากว่ายน้ำ เราควรให้ลูกเป็นฝ่ายเลือก และช่วยให้ลูกไปถึงเป้าหมายโดยการไปรับส่งและจัดตารางร่วมกันกับลูก หากลูกชอบการดูดีวีดี คุณพ่อคุณแม่อาจสร้างแรงจูงใจให้ลูกโดยการจัดหาดีวีดี เกี่ยวกับการออกกำลังกายและฝึกทำด้วยกันทั้งบ้านเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจที่สนุกกับลูก

4. พยายามสนับสนุนการทำกิจกรรมที่ได้เข้าสังคม กิจกรรมหรือการเข้าร่วมในคลับช่วยให้ลูกได้มีโอกาสเข้าสังคม และรู้จักการปรับตัวเข้ากับคนอื่น ในกรณีที่ไม่สามารถชักจูงให้ลูกเข้าร่วมในคลับต่างๆ ได้ ให้ลูกเลือกทำกิจกรรมกับกลุ่มที่ลูกคุ้นเคยและสนใจก่อน เช่นร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรืออาสาสมัครทำงานที่ลูกชอบเป็นต้น

5. มีข้อตกลงร่วมกันในการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น เขียนสัญญา ข้อตกลงซึ่งเป็นกฎของบ้านร่วมกันกับลูกโดยการให้รางวัลหรือลงวินัยหากทำผิดกฎ เพื่อให้ลูกรู้สึกมีส่วนร่วม ตัวอย่างข้อตกลงมีดังนี้
5.1 ห้ามส่งข้อความออนไลน์ในระหว่างทานอาหาร ไม่ว่าเป็นที่บ้านหรือร้านอาหาร
5.2 ห้ามดูทีวีขณะรับประทานอาหาร
5.3 ต้องทำการบ้านหรืองานบ้านให้เสร็จก่อนดูทีวี
5.4 เมื่อถึงเวลานอนต้องปิดทีวี
5.5 ใช้คอมพิวเตอร์ได้ในห้องนั่งเล่น
5.6 ไม่ตั้งทีวีไว้ในห้องนอน

6. เปิดอกคุยกับลูก หากการตั้งกฎต่างๆ ใช้ไม่ได้ผลกับลูก อาจถึงเวลาในการคุยกับลูกตรงๆ ถึงผลเสียของการเสพสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ให้ลูกค้นดูงานวิจัยมากมายถึงผลกระทบของการใช้สื่อมากเกินความจำเป็น เช่น เป็นโรคอ้วน จอภาพสายตาเสื่อม เป็นโรคหัวใจเป็นต้น เพื่อจะได้ตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้น

สื่อเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากใช้อย่างฉลาดลูกจะได้รับประโยชน์มากมาย การทำตัวเป็นแบบอย่างและชี้แจงถึงประโยชน์และโทษของการตกเป็นเหยื่อของสื่อเสพติดจะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีแก่ลูกมากขึ้น เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.webmd.com/parenting/raising-fit-kids/recharge/reduce-teen-screen-time?page=3

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น