สสส. แจงการบริหารงานตลอด 10 ปี ถูกตรวจสอบหลายชั้น ทั้ง “ครม.- รัฐสภา - สตง.” และการประเมินจากสังคมและนานาชาติ นพ.หทัย ชี้อนุสัญญาโลกมาตรา 5.3 ระบุชัดห้ามธุรกิจยาสูบมีส่วนเกี่ยวข้องนโยบายรัฐ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงกรณีที่รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ (รยส.) เตรียมเสนอให้ คสช. พิจารณาให้โรงงานยาสูบต้องส่งงบประมาณเข้าคลัง แทนการจัดสรรให้ สสส. และไทยพีบีเอส เพื่อให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบได้ ว่า สสส. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดกลไกการตรวจสอบและได้พัฒนาระบบธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในส่วนระบบธรรมาภิบาลตามกฎหมาย สสส. มีถึงสองบอร์ดที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีมาดูแล คือคณะกรรมการกองทุนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นรองประธาน มีตัวแทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 9 กระทรวงอยู่ด้วย ซึ่งยังได้ตั้งคณะกรรมการอีก 7 คณะ ลงมากำกับดูแลแผนการดำเนินงาน 15 แผนที่ต้องมีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน บอร์ดที่สอง คือ คณะกรรมการประเมินผลที่กระทรวงการคลังเสนอผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ให้ ครม. แต่งตั้ง ทำหน้าที่กำหนดตัวชี้วัดและประเมินผลทั้งองค์กรในทุกด้าน ผลการประเมินเหล่านี้ต้องรายงานเสนอต่อ ครม. และรัฐสภาทั้งสองสภา รวมทั้งส่งผลให้คณะกรรมการกองทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพร.) วิเคราะห์และนำเสนอ ครม.อีกทางหนึ่งด้วย
“ในด้านการตรวจสอบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะต้องเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของการใช้เงินและระบบการทำงาน และรับรองการตรวจสอบบัญชีทุกปี โดยตรวจไปถึงโครงการต่างๆ ที่ได้รับทุนด้วย โดยที่ สสส. จัดให้มีห้องทำงานแก่เจ้าหน้าที่ สตง. เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบที่ใช้เวลาหลายเดือนในแต่ละปี ” ดร.สุปรีดา กล่าว
รองผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า ระบบธรรมาภิบาลและการประเมินผลของ สสส. ที่พัฒนาการตลอดมา เช่น ตอน สสส. ทำงานครบสิบปี คณะกรรมการประเมินผลจัดให้มีคณะผู้ประเมินนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มาประเมินภาพรวมการทำงานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งปีที่ผ่านมาได้พัฒนาดัชนีชี้วัดระดับธรรมาภิบาลขององค์กรขึ้น ซึ่งตอนนี้มีหลายหน่วยงานขอมาศึกษาเพื่อนำไปใช้ แม้แต่ระบบการอนุมัติโครงการก็เป็นระบบเปิด นอกจากคณะกรรมการต่างๆ ที่กล่าวไป เรายังใช้ระบบกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ไม่ได้ใช้อำนาจของผู้บริหารแต่อย่างใด ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิในบัญชีที่ร่วมกลั่นกรองโครงการต่างๆ ของ สสส. กว่าหกร้อยคน
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิดของรักษาการผู้อำนวยการ รยส. หากมองในฐานะหน่วยงานก็เป็นส่วนงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อเสนอในการที่จะขอไม่ให้ส่งเงินให้กับ สสส. หรือไทยพีบีเอส ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อเสนอให้นำเงิน 2% จากภาษีสุราและยาสูบ มาจัดตั้งเป็นกองทุนใหม่เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ก็ทราบว่า มีขบวนการพยายามเคลื่อนไหวส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและให้ร้าย สสส. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเจตนาจากผู้เสียประโยชน์หากกำหนดให้มีการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวมีการระบุเป็นกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ว่า สสส. จะต้องได้รับงบ 2%จากภาษีเหล้า บุหรี่ เพื่อนำมาใช้ในการรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบ ตามพันธกิจของกองทุน ที่สำคัญประเทศไทยเป็นสมาชิกตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนทั่วโลกจากการบริโภคยาสูบ โดยมีกฎข้อบังคับให้ประเทศสมาชิกได้ทำตาม โดยเฉพาะการไม่ยอมให้อุตสาหกรรมยาสูบมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก มี อนุสัญญา 5.3 เพื่อลดการบริโภคยาสูบ ให้คนลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากบุหรี่ให้น้อยลง ซึ่งเป็นการหาข้อกำหนดที่จะทำเพื่อประชาชนทุกคนในโลก ถือเป็นการขัดขวางเหมือนการฆ่าคนไทยด้วยกันเองให้มากขึ้น มีหลายเรื่องที่โรงงานยาสูบทำเรื่องผิดกฎหมายหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมการขาย การโฆษณาอย่างเปิดเผย โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีหลักฐานที่เก็บได้และยังคงกระทำผิดอยู่เรื่อยๆ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่