xs
xsm
sm
md
lg

ดรามาธรรมศาสตร์! ยุคสมัยแห่ง “เด็กรังแกผู้ใหญ่” หรือครูต้องก้มหัวขอโทษเด็ก!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ลงไปนั่งทำไมที่พื้น ไม่ได้สอนเด็กวัดค่ะ เด็กวัดเขานั่งพื้นกัน เพราะมันไม่มีที่จะนั่ง” แค่คำพูดนี้ของอาจารย์ ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายมาเป็นประเด็นดรามาให้นักศึกษาถ่ายคลิปออกมาแฉ หาว่าไม่ให้เกียรติ “เด็กวัด” ดูถูกคุณค่าความเป็นมนุษย์! พร้อมเขียนประท้วงให้ออกมาขอโทษนักศึกษา
สงสัยเหลือเกินว่า เด็กสมัยนี้เป็นอะไรไป ครูบาอาจารย์ว่ากล่าวอะไรนิดหน่อยไม่ได้แล้วหรือ จะเรียกร้อง “สิทธิเสรีภาพ” กันไปถึงไหน!!?





แปลเจตนาให้ถูก!!
อาจารย์: “ลงไปนั่งทำไมที่พื้น ไม่ได้สอนเด็กวัดค่ะ เด็กวัดเขานั่งพื้นกัน เพราะมันไม่มีที่จะนั่ง”
เสียงเด็กบางกลุ่มเริ่มเซ็งแซ่คล้ายแสดงอาการไม่พอใจ อาจารย์จึงพูดต่อ “เป็นยังไง พอใจไหม”
“ไม่พอใจ” เสียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนตอบกลับไป
“ไอ้เหี้ย” เสียงเด็กผู้ชายอีกคนสบถออกมา หลังจากนั้นคำพูดบางอย่างก็ถูกดูดเสียงให้หายไป แล้วคลิปความยาวครึ่งนาทีก็จบลง พร้อมๆ กับการแชร์ต่อๆ กันไป จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในรั้วเหลืองแดงอยู่ในขณะนี้
(คลิปเหตุการณ์ดรามา "ฉันไม่ได้สอนเด็กวัด")


โดยเฉพาะพฤติกรรมต่อต้านของกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาประจานคำพูดของอาจารย์ผ่านแผ่นกระดาษ เอาไปติดบอร์ดทั่วมหาวิทยาลัยด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ที่นี่มหาวิทยาลัย ไม่ใช่โรงเรียนวัด เด็กวัดเขานั่งเรียนกันบนพื้น ฉันไม่สอนเด็กวัด รศ.ดร.อัญชลี จาละ TU130กล่าวไว้”
“TU130 แหกกฎมหาลัย บังคับใส่ชุดนักศึกษา”
“เด็กวัดแล้วไง ทำไมต้องดูถูก”
“เด็กวัดก็คน อาจารย์ก็คน เด็กวัดไม่มีคุณค่าพอที่จะให้คุณสอนหรือ?” กลุ่มยุวชนธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน
“รศ.ดร.อัญชลี ต้องออกมา “ขอโทษ” เด็กวัดธรรมศาสตร์ หยุดลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ในช่วงแรกที่มีการแชร์ประเด็นดรามาเรื่องนี้ออกไป หลายฝ่ายในสังคมต่างรุมโจมตีผู้เป็นอาจารย์ เนื่องจากฝั่งนักศึกษาผู้บอกเล่าเรื่องราวอ้างว่า ในคาบวิชานั้นที่นั่งเต็มหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องนั่งลงกับพื้น แต่ก็ถูกอาจารย์ตำหนิ ทั้งยังเอาไปเปรียบเปรยว่าเป็น “เด็กวัด” นั่งพื้นเหมือนเด็กวัด อาจารย์ไม่สอน เมื่อสื่อสารออกไปแบบนี้ จึงกลายเป็นประเด็นว่าอาจารย์ดูถูกเด็กวัด, โรงเรียนวัด และแบ่งแยกชนชั้นของผู้เข้าเรียน


(นักศึกษาสร้างดรามา ตีความคำพูด โพสต์ประนามอาจารย์จนกลายเป็นเรื่องใหญ่!)


(หยิบคำว่า "เด็กวัด" มาสร้างประเด็น ให้สังคมรุมประณามอาจารย์)




แต่หลังจากสืบเสาะข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงได้ทราบความจริงอีกด้านว่า ทั้งหมดที่อาจารย์ถูกกล่าวหามานั้น อาจเป็นความตั้งใจที่จะใส่สีตีไข่และแปลงเจตนาของอาจารย์ไปในทางที่ผิดๆ เพื่อให้ถูกสังคมรุมประณามในฐานะอาจารย์ที่แบ่งแยกลูกศิษย์และดูถูกเด็กวัด ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้อยคำที่อาจารย์พูดมีนัยแตกต่างไปจากที่ถูกแปลความออกไปราวฟ้ากับเหว และนี่คือคลิปเสียงที่มีคนอัดไว้ในห้องเรียนวิชา TU130 วิชาเดิมแต่เป็นคาบเรียนต่อมา คลิปเสียงนี้มีคนเอามาเผยแพร่บนโลกออนไลน์โดยเจตนาให้ผู้คนได้ตาสว่าง หลังจากร่วมกันรุมประณามอาจารย์ฝ่ายเดียว


(ความจริงอีกด้าน นักศึกษาดูดเสียงพูดในคลิปของตัวเองออก - ขอบคุณภาพจากเพจ "Drama-Addict"

นั่งนะคะ นั่งตามเก้าอี้ ที่อาจารย์ว่านั่นน่ะคะ อาจารย์หมายถึงว่าอาจารย์ไม่ได้สอนเด็กวัด เพราะว่าเด็กวัดเนี่ยมีแต่นั่งพื้น เราสอนเด็กให้นั่งที่ เรามีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะฉะนั้น กรุณานั่งเก้าอี้ค่ะ พื้นเราไม่ให้นั่งนะคะ นั่งเก้าอี้ค่ะ แปลเจตนาให้ดีๆ ว่าที่เราพูดเนี่ย เราพูดหมายถึงอะไร...

จนป่านนี้ยังไม่ได้ที่นั่งอีกเหรอคะ ที่นั่งว่างอีก 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ ตรงนี้ให้ใคร ตรงนี้อีกกลุ่มนี้ให้ใคร เพื่อนที่ยังไม่มีเก้าอี้นั่ง รีบหาที่นั่งเลยค่ะ มาเรียนรู้ ไม่ใช่มานั่งคุยกับเพื่อนกับฝูง ถุงขนมเก็บลงค่ะ เพื่อนจะได้นั่งด้วยได้ ห้องมันมีที่นั่งหมดนะคะ ถ้าคุณไม่มีที่นั่งเนี่ย มาลงทะเบียนไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนั้นเรารออีก 5 นาทีดีกว่า จะได้จบเรื่องกันไป เพราะอีก 5 นาทีก็ไม่ต้องรับบัตรเข้าห้องแล้ว

นักศึกษาที่นั่งอยู่ข้างๆ ลงมานั่งเลยค่ะ มานั่งเก้าอี้ให้หมด ไม่ให้นั่งพื้นค่ะ เราจัดเก้าอี้ให้คุณครบ 1,000 ที่ มานั่งให้เรียบร้อย ไม่มีการนั่งพื้น ไม่มีการจองที่ ถ้าคุณอยากนั่งด้วยกัน กรุณามาเร็วๆ แล้วนั่งให้เป็นแถบไปเลย ขอร้องนะคะ ไม่จด ไม่ฟังไม่ว่า อย่าคุยกัน นอนไปเลยค่ะ มีแอร์เย็นๆ ให้ ถ้าเหนื่อยก็นอนไปเลย อย่าคุย เพราะถ้าคุณคุยปุ๊บเสียงมันก็ดัง ก็ต้องมาเร่งไมโครโฟนอีก เมื่อวานก็มีนักศึกษาเดินมาบอกว่าเขานั่งข้างหลังเขาไม่ได้ยิน โดยเฉพาะเพื่อนที่ตาบอด น่าสงสารเขานะคะ คุณไม่คิดบ้างเหรอคะว่าเขาตาบอด เขาฟังได้อย่างเดียว เราต้องเปิดโอกาสให้เพื่อนที่เขามีความพิการทางด้านนี้นะคะ ช่วยเหลือเพื่อนๆ โดยการไม่คุย

เพราะฉะนั้น ฟังกันหน่อย เรารู้นะคะว่าสิ่งที่พูดไป หลายๆ คนก็ฟัง อีกหลายๆ คนก็ว่าเรา แต่การแปลเจตนา กรุณาแปลเจตนาที่ดี ไม่มีอาจารย์คนไหนเขาประสงค์ร้ายกับนักศึกษา เพราะฉะนั้น ในการพูด ในการเขียน พวกคุณเขียนให้มันถูก เขียนให้มันสุภาพ อยากจะด่า ด่าไปเลยค่ะ แล้วก็ให้มันจบๆ กันไป แต่ถ้าคุณด่าไม่เลิกก็สวยเหมือนกัน

นี่คือเสียงของ “รศ.ดร.อัญชลี จาละ” ที่มีนักศึกษาบางคนแอบอัดเอาไว้และนำมาเผยแพร่ ความยาวกว่า 7 นาที หากลองฟังดูทั้งคลิปจะรับรู้ได้ว่าบรรยากาศในห้องเรียนวุ่นวายแค่ไหน กว่าจะจัดการให้นักศึกษานั่งเป็นที่เป็นทางได้ คนเป็นครูต้องบ่นต้องเตือนจนคอแหบคอแห้ง และถ้าลองกลับไปดูคลิปแรกที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา แล้วมองอย่างไม่มีอคติ จะรู้ว่าสิ่งที่อาจารย์พูดคือเจตนาดีที่จะตักเตือน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าจะกลายเป็นประเด็นใหญ่โตที่นักศึกษาต้องเอามาประจาณกันเลย
(เสียงอธิบายจากอาจารย์ที่นักศึกษาแอบอัดไว้ "แปลเจตนาให้ถูก")




เด็กสมัยนี้ “รังแกผู้ใหญ่”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับกรณีความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เกิดขึ้นมาซ้ำๆ หลายครั้งแล้ว ในฐานะอาจารย์เหมือนๆ กัน ถึงแม้จะเป็นคนละสถาบัน แต่ “ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก” อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ขอแสดงความคิดเห็นแบบไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใดเลย

ถ้าเด็กในยุคปัจจุบันมองว่านั่นคือการสอน เด็กก็จะไม่คิดอะไรต่อ จะไม่ต่อประเด็นไป สอนแล้วก็จบกัน ก็เข้าใจ แต่เด็กยุคปัจจุบันไม่ได้คิดว่าครูคือผู้สอน หลายๆ ครั้งที่เด็กเริ่มรู้สึกว่า ครูเป็นผู้รับเงินเดือนจากเขา เขามีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ในโลกเสรีของเขา และเขาก็มีเครื่องมือ มีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีอยู่ในมือของเขาเป็นอาวุธ เขาไม่คิดว่าถ้าครูตอบโต้อะไรแรงๆ ในที่สุด เขานั่นแหละจะไม่มีสิทธิที่จะชนะ ด้วยบทบาท ด้วยสถานะทางสังคมแล้ว เขาจะรู้ว่าถ้าครูเอาจริง เขาจะสู้ไม่ได้เลย แต่ครูทุกคนที่โดนส่วนใหญ่ก็จะไม่ออกมาตอบโต้หรอกค่ะ


(สภาหน้าโดม สภานักศึกษา ช่วยขยายดรามาให้กลายเป็นเรื่องใหญ่)

ถามว่าสมัยนี้ ครูต้องระวังมากขึ้นไหมเวลาจะพูดจะสอนอะไรเด็ก เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่อาชีพครูหรอกค่ะที่ต้องระวัง ทุกคนในปัจจุบันนี้ก็ต้องระวังตัวเองมาก ระวังคลิป ระวังสิ่งที่พูด ระวังทุกอย่างที่จะถูกบันทึกลงไป แชร์ต่อๆ ไป แล้วเราไม่มีสิทธิที่จะตอบโต้ ตรงนี้สำคัญมากค่ะ

ส่วนตัวแล้ว คิดว่าครั้งนี้เป็นการตีความที่เยอะเกินไปของเด็กๆ เองค่ะ ตีความเข้าข้างตัวเอง ตีความแบบที่อยากจะหาเรื่องครูน่ะค่ะ ถ้าลองเทียบกับครูสมัยก่อน เขาดุด่าว่ากล่าวเจ็บๆ กว่านี้เยอะนะคะ สมัยตัวอาจารย์เองตอนเป็นนิสิต เวลาครูดุด่าแรงๆ บางทีเรายังรู้สึกขำๆ เลยค่ะ ยังมีแซวเลยว่าครูพูดเกินไปหรือเปล่า หนูไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้นนะคะ เรายังพูดคุยกันด้วยความรู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตีฆ้องร้องป่าวให้มันใหญ่โต


(ถ้าไม่อคติ จะรู้ว่าอาจารย์หมายถึงอะไร)

เวลาครูดุ เราจะมองตัวเองก่อนว่า เราผิดจริงไหม ถ้าเราผิดจริง เราก็จะขอโทษครูไป แล้วก็จบกันไป หรืออย่างกรณีนี้ ถ้าครูด่าเรื่องนั่งที่พื้น เราก็คงขอโทษครูแล้วก็ลุกขึ้นไปหาที่นั่งใหม่ ไม่นั่งตรงนั้นก็ได้เพราะครูเตือนแล้ว แต่เด็กในยุคปัจจุบัน ไม่รู้ว่าที่ไหนควรนั่งและที่ไหนไม่ควรนั่ง เขาก็จะนั่งอย่างเสรีของเขาน่ะค่ะ ทั้งๆ ที่เขามีที่นั่งที่จัดมาไว้ให้แล้วให้เหมาะสมกับสถาบันและการจัดระเบียบสังคม แต่เด็กรุ่นหลัง รุ่นปัจจุบัน เขาจะไม่ค่อยอยากอยู่ในกรอบอะไร มีเก้าอี้ ฉันก็อยากจะนั่งตรงนี้ ฉันสนุกกว่า ฉันชอบมากกว่า เหมือนกับทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาควรจะทำอะไร

คลิปที่ออกมา คนในโลกโซเชียลมีเดียเขาก็รู้ค่ะว่ามันคือการตัดต่อดูดเสียงตัวเองออก คนก็รู้ว่าเป็นการหาความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง โดยที่ลืมให้ความชอบธรรมกับคนอื่น จุดนี้ก็คิดอยู่เหมือนกันค่ะว่า ถ้าครูลุกขึ้นมาเรียกร้องความชอบธรรมกับครู เด็กๆ เหล่านี้จะเจอข้อหา “ผิดวินัย” เลยนะคะ ระเบียบของมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะมีกฎข้อบังคับวินัยของนิสิตนักศึกษาไว้เลยค่ะว่า จะต้องอยู่ในจารีตประเพณีอันดีงามของวัฒนธรรมและสังคมไทย ไม่ผิดระเบียบมหาวิทยาลัย และมีเรื่องจรรยาบรรณหลายๆ อย่างที่เด็กต้องยึดถือ แต่เขาก็ลืมตัวไป ถ้าทางครูหรือมหาวิทยาลัยจะเล่นเรื่องนี้ก็สามารถเอาผิดกับเด็กได้นะคะ แต่ถามว่าผู้ใหญ่เขาจะเล่นกันถึงขนาดนั้นเลยเหรอ ครูก็ไม่ทำหรอกค่ะ แต่ถ้าครูลุกขึ้นมาทำเมื่อไหร่ มันก็เหมือน “ผู้ใหญ่รังแกเด็ก”

ตอนนี้มันกลายเป็นเหมือน “สังคมแห่งเด็กรังแกผู้ใหญ่” ไปแล้วค่ะ ซึ่งผู้ใหญ่ที่ดีก็มักจะไม่ตอบโต้เด็ก ผู้ใหญ่มักจะรอให้อภัยเด็กอยู่ตลอดเวลา คิดว่านี่ลูกศิษย์นะ ฉันไม่อยากเอาโทษถึงขนาดทำให้เด็กผิดวินัย โดนไล่ออก หรือต้องถูกเรียกผู้ปกครองมาพบหรอก ก็เลยอาจจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีเสรีเต็มที่ ไม่มีใครเชิญพ่อแม่มาคุยได้แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วทางมหาวิทยาลัยยังมีสิทธิเรียกผู้ปกครองของเด็กมาคุยได้อยู่นะคะ แต่ครูส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกว่าไม่อยากทำหรอกค่ะ ทำแล้วได้อะไรขึ้นมา ทำลงไปปุ๊บ มันจะยิ่งเสีย สังคมจะยิ่งประณามคุณครูมากกว่า แต่เวลามองเด็กๆ สังคมจะพร้อมให้อภัยเด็ก ให้อภัยผู้เยาว์”




อ่อนไหวเกินไปกับ “สิทธิเสรีภาพ”
อะไรๆ ก็โพสต์ด่า ถ่ายคลิปแฉ ประณาม ประจาน อ้างว่าถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ... เด็กสมัยนี้เป็นอะไรกันไปหมด ความอดทนต่อคำว่ากล่าวตักเตือนเหลือสั้นเพียงหางอึ่งเท่านั้นหรือ? กรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้อดตั้งคำถามเช่นนี้ไม่ได้ เพราะถ้าลองพิจารณาดูดีๆ ถ้อยคำที่อาจารย์ตักเตือนลูกศิษย์นั้น ไม่ได้รุนแรงอะไรมากมาย แม้กระทั่งคนบนโลกไซเบอร์หลายๆ คนยังรับรู้ได้ถึงเจตนาของผู้ใหญ่ที่หวังดีต่อเด็ก และนี่คือ Top Comment บนเฟซบุ๊กที่มีคนกด Like ให้สูงสุด

“ฟังกันยังไงวะว่าอาจารย์ไม่สอนเด็กวัด ฟังยังไงอาจารย์ท่านก็พูดว่า "ฉันไม่ได้สอนเด็กวัดนะ เพราะเด็กวัด เขานั่งพื้นกัน เพราะเขาไม่มีเก้าอี้จะนั่ง" จากประโยคนี้และสิ่งที่อาจารย์เปรียบเทียบ หมายถึงว่านักศึกษาทำตัวไม่มีระเบียบ เท่านั้นไม่พอยังตะโกนด่าอาจารย์ว่าเหี้ยอีก สรุปนะ รวมแล้ว นักศึกษาเหี้ยนะครับ พวกที่ด่าอาจารย์เนี่ย ไปเรียนภาษาไทยใหม่นะครับ หรือต้องให้แปลไทยเป็นไทย... มธ. ผมว่าพวกคุณมีปัญหากับคำว่าเสรีภาพแล้วว่ะ ถ้าเสรีภาพแบบนี้นะ ขอบอกเลย” Icee Steps

“เราจบ มธ. มา พอจะรู้เหตุการณ์ในห้องเรียน เก้าอี้มีเพียงพอกับจำนวนนักศึกษาค่ะ เพียงแต่วิชานี้เป็นวิชาเรียนรวมทุกคณะนักศึกษานั่งกระจายกัน เก้าอี้จึงว่างเป็นหย่อมๆ แต่คนที่เข้าห้องสายต้องการจะนั่งเป็นกลุ่มกับเพื่อนๆ จึงลงไปนั่งที่พื้น ไม่ยอมแยกกันไปนั่งเรียนตามเก้าอี้ที่ว่างค่ะ อาจารย์เห็นความไม่มีระเบียบในห้องสอนก็ต้องไม่พอใจเป็นธรรมดาค่ะ เจตนาเขาไม่ได้จะเหยียดเด็กวัด แต่ต้องการพูดให้นักศึกษาพร้อมเรียนหนังสือมากกว่านี้ อย่าเอาประเด็นเด็กวัดมาปกป้องความไม่มีระเบียบของตัวเองเลย” Milk MysheLar


(โลกออนไลน์เข้าใจ "เจตนาดีๆ" ของคนเป็นครู)



อะไรทำให้เด็กสมัยนี้ความอดทนต่ำต่อการถูกว่ากล่าวตักเตือนกันขนาดนี้? คำถามนี้ ผศ.ดร.พรทิพย์ พอจะมีคำอธิบาย “เด็กปัจจุบันอยู่กับวัตถุเยอะ โตขึ้นมานิดหนึ่งก็มีไอที มีโซเชียลเน็ตเวิร์กของเขาแล้ว มีพลังของเขาบนโลกออนไลน์แล้ว เทียบกับสมัยก่อนไม่ได้แล้วค่ะ เพราะเด็กสมัยก่อน อยู่กับคนมากกว่าก็เลยเคารพบุคคล พ่อแม่สอนให้เคารพครูบาอาจารย์ พอตอนหลังๆ อาจจะมีข่าวคราวออกมาว่ามีอาจารย์ทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ส่วนหนึ่งเด็กๆ ไม่ให้ความเคารพ เหมือนกับที่บางส่วนไม่อยากจะไหว้พระเท่าไหร่ เพราะพระบางรูปก็ผิดศีล ทำให้เด็กสมัยนี้จะชอบใช้เครื่องไม้เครื่องมือในมือของตัวเองตอบโต้

และสังคมสมัยก่อน เป็นสังคมที่เอื้ออาทร ให้อภัย และเข้าใจกันได้ง่าย แต่สังคมปัจจุบันนี้ ไม่เข้าใจ และเด็กสมัยนี้ถือตัวเองเป็นใหญ่ คิดว่าตัวเองมีสิทธิทำ สมัยก่อนอาจจะมีคำพูดบ่อยๆ ว่า “อย่าทำๆ” ต้องเคารพนะ แต่เด็กสมัยนี้ ไม่ทราบว่าเขาเชื่อใคร ดูเหมือนว่าเขาจะเชื่อสื่อมากกว่าคน เขาเชื่อสิ่งที่อยู่ในสื่อ เพราะสิ่งที่อยู่ในนั้นก็จะมีทั้งดีและไม่ดี และเขาก็มีเพื่อนที่เป็นพลังของเขา เขาก็คุยกันเอง เชื่อกันเอง คิดกันเอง

อาจารย์เองก็เคยเจอค่ะ ขนาดแค่เรื่องเตือนเด็กว่าไม่ควรเข้าห้องน้ำอาจารย์หรือไม่ควรใช้ลิฟต์ของอาจารย์นะ ไม่เห็นเหรอว่าป้ายก็ติดอยู่ จากนั้นเด็กก็มาโพสต์ว่า “สังคมประชาธิปไตย เพิ่งรู้ว่าเจ้าขุนมูลนายยังมีอยู่” คิดดูสิคะ ขนาดแค่ตักเตือนเรื่องลิฟต์กับห้องน้ำ เด็กก็โพสต์ เราก็ไปคุยกับเด็กตรงๆ ค่ะว่า “โอเค ไม่เป็นไร วันหลังเราก็มานั่งที่ห้องพักอาจารย์แล้วกัน เดี๋ยวอาจารย์จะไปนั่งกลางสนามแทน” เด็กเขาก็เลยเข้าใจ เรื่องมันก็เลยจบกันไป คือถ้าคุยกันได้แบบนี้มันก็จะไม่เป็นไรค่ะ เด็กเขาก็สำนึกผิดมาขอโทษอาจารย์

มีอีกกรณีหนึ่ง เพื่อนอาจารย์ด้วยกันเจอมาค่ะ ขึ้นลิฟต์ตัวเดียวกันกับเด็ก แล้วเขาก็พูดคุยกันแบบ “สารพัดสัตว์” ในลิฟต์เต็มไปหมด โดยที่มีอาจารย์ยืนอยู่ในนั้นด้วย แต่เด็กก็ไม่ได้เกรงใจอะไรเลย พออาจารย์คนนั้นออกมาจากลิฟต์ปุ๊บ อาจารย์ก็พูดเลยค่ะว่า “มึงเปลี่ยนลิฟต์หน่อย กูจะลง ไม่ไหวแล้วในนี้เหี้ยเต็มไปหมด” พอเด็กเจอคนที่เป็นครูบาอาจารย์แล้วพูดแบบนี้กับเขา เขาก็อึ้งๆ ค่ะ เสร็จแล้วก็ไปพูดต่อจนกลายเป็นประเด็นโจษจันในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน เพราะอาจารย์ท่านนี้เขาตั้งใจสั่งสอน ทำให้เด็กรู้สึกสำนึกไงคะ

ส่วนตัวอาจารย์เอง เวลาอาจารย์มีประเด็นกับนิสิต อาจารย์จะตั้งสติก่อนนิดหนึ่ง แล้วใช้วุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่เข้ามาจัดการ จากนั้นก็จะเรียกต้นเรื่องนั้นมาคุยมาสอน ซึ่งเด็กเขาก็ควรจะต้องยอมรับได้ในสิ่งที่ตัวเองทำ ถามว่าเราเป็นอาจารย์ที่โดน เรามีอารมณ์ความรู้สึกไหม มีนะคะ แต่เราต้องตอบโต้ด้วยการสอนเขา ให้เขาหยุดและเข้าใจ แต่จะไม่เลือกวิธีใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกระพือต่อและทำให้เขาไม่มีที่ยืนในสังคม ครูเป็นผู้ใหญ่พอที่จะให้อภัย เราจะใช้การสอนและตักเตือนค่ะ อารมณ์โมโหมีกันทุกคนแหละค่ะ แต่อย่างที่บอก เราเป็นผู้ใหญ่ เรารังแกเด็กไม่ได้ เราต้องเข้าใจความคะนองของเขา ความคิดของเขาค่ะ

เด็กทุกวันนี้ใช้สื่อออนไลน์โดยขาดความยั้งคิดบางอย่าง ขาดการกลั่นกรอง ขาดการเข้าใจเรื่อง “บทบาททางสังคม” ของบุคคลรอบตัวเขา เขาแค่ใช้เหตุผลที่ว่าเขามี “สิทธิและเสรีภาพ” ในการที่จะแสดงออก เขาเลยพูดออกไปโดยมักจะลืมคิดไปว่า สิ่งต่างๆ ที่เขาพูดออกไปมันจะตีกลับมาหาเขา วันนี้ เขาด่าว่าอาจารย์ ตอบโต้ผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยคำที่ไม่สุภาพ ด้วยสิ่งไม่ดีต่างๆ นานา โดยที่ไม่คิดว่าในอนาคต เจ้านายหรือคนที่จะรับเขาเข้าทำงาน แล้วเห็นว่าเด็กคนนี้เคยว่าผู้หลักผู้ใหญ่ เคยว่าครูบาอาจารย์แบบนี้ เขาจะรับเด็กแบบนี้เข้าทำงานเหรอ

ลองย้อนกลับไปดูประเด็นเรื่อง อั้ม-เนโกะ ดูนะคะ ตอนนั้นก็มีคนมาสัมภาษณ์อาจารย์หลายๆ คน และในที่สุดสังคมก็เห็นว่าเธอคนนี้โดยพื้นฐานแล้วทำอะไรได้ใหญ่โตมากมายเกินกว่าสภาพนักศึกษาปกติ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ามันจะมีนักศึกษาที่พร้อมจะก่อกวน พร้อมจะสร้างสถานการณ์แบบนี้อยู่จริงๆ

เด็กปัจจุบันนี้ไม่ได้ใสๆ เหมือนสมัยก่อนที่คิดว่าเข้าสถานศึกษาเพื่ออยากจะเรียน อยากได้ความรู้ เพื่อจะตั้งหน้าตั้งตาอดทนอะไรก็ตาม แต่กลายเป็นว่านักศึกษาในสมัยปัจจุบัน อยากมีบทบาทในสังคม อยากมีตัวตนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก อยากมีบทบาทในการเป็นผู้นำความคิด ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ตาม และบางทีในตอนที่ทำผิด เขาก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองผิด เขาจะอ้างคำว่า “ฉันมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำ” เราน่าจะมามองว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ เขาได้สอนหรือบอกนักศึกษามหาวิทยาลัยของเขาหรือเปล่าว่า “สิทธิเสรีภาพ” ในขอบเขาของรั้วมหาวิทยาลัยทำอะไรได้บ้าง?

สังเกตไหม เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เยอะมาก ตราบใดที่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้กำหนดขอบเขต หรือตราบใดที่อาจารย์ยังมีสองพรรคสองพวก ยังมีทั้งกลุ่มอาจารย์หัวสมัยใหม่ที่มองว่าเด็กมีสิทธิจะทำ และกลุ่มอาจารย์อนุรักษนิยมที่จะสอนเด็กรูปแบบเดิมๆ ยังอยากว่ากล่าวและตักเตือนเด็กๆ อยู่ คือถ้ายังแบ่งออกเป็นแบบนี้ มีทั้งอาจารย์กลุ่มที่ให้ท้ายเด็ก รู้สึกว่าเด็กอยากทำอะไรก็เรื่องของมัน

ตราบใดที่ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ดำเนินการหรือทำให้บุคลากรเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรจะใช้กรณีศึกษา 2-3 ครั้งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย มาทำความเข้าใจกับเด็ก ให้ความรู้กับเขาว่าในสังคมของคนไทย ในสังคมของรั้วมหาวิทยาลัยคืออะไร เคสแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น อาจารย์ว่าเราน่าจะถามหาคำจำกัดความคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” จากรั้วมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก่อนดีกว่า


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น