xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้ยื่นป.ป.ช. ฟันผิดพวกฮุบเงิน สสส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-นักวิชาการรุมสกรัม สสส. ทำงานผิดหลักสากล ย้ำกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรับทุน แม้ไม่เป็นผู้อนุมัติก็ไม่ควร แนะยื่น ป.ป.ช. ศาลปกครองฟันได้เลย หลัง สตง.ปูดมีมูลนิธิและองค์กรที่มีกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิใน สสส. รับเงินอื้อกว่า 3 พันล้าน "หมอยงยุทธ" แจงมูลนิธิรับงบก่อนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ด้านภาคีสุขภาพค้าน สธ. ดึงงบกลับระบบราชการ บี้ตรวจสอบผู้ว่า สตง. สุจริตจริงหรือไม่ หลังโหมข่าวช่วงนี้ ทั้งที่ตรวจมาเป็น 10 ปี ไร้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมาก และยังพบว่ามีกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ที่มีบทบาทหรือเกี่ยวข้องกับมูลนิธิหรือองค์กรได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. ถึง 139 โครงการ เป็นเงินกว่า 3 พันล้านบาท และ ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีกฎหมายห้ามคนในมูลนิธิหรือองค์กรเป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. พร้อมระบุว่า สสส. มีระบบตรวจสอบการอนุมัติโครงการต่างๆ อย่างรัดกุมและมีธรรมาภิบาล

***ซัดชงเองกินเองยื่นป.ป.ช.ฟันได้เลย

วานนี้ (28 ต.ค.) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงเรื่องนี้ในงานสัมมนาวิชาการกฎหมายการแพทย์ “ธรรมาภิบาลกับคุณภาพการรักษาพยาบาล" ว่า ประเด็นธรรมาภิบาลสำคัญมากๆ เพราะหากคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน พิจารณาไปเรื่อยๆ จะพบว่า สสส. มีการหมุนเวียนคนทำงานคนเดิมๆ อยู่ตลอด จึงไม่แปลกที่สังคมจะสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอะไรกันหรือไม่ ทั้งนี้ หากพิจารณาและพบว่าเป็นปัญหาจริงก็ถือว่าผิด

"ยกตัวอย่าง กรรมการบางท่านใน สสส. ไปดำรงตำแหน่งในมูลนิธิหรือองค์กรที่ได้รับทุน สสส. จนเกิดคำถามว่าเป็นผู้อนุมัติเองหรือไม่ หากพบว่าเกี่ยวข้อง ถือว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ระบุให้เจ้าหน้าที่ทางการปกครองดำเนินคดีหรือเอาผิดบุคคลที่ทำงานโดยมีข้อห้ามต่างๆ คือ เป็นญาติ หรือมีความเกี่ยวพันกัน เป็นต้น ซึ่งหากพบว่าผิดจริง ก็สามารถเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลปกครองพิจารณาได้ หรือกรณีที่ ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. หากพิจารณาข้อมูลที่ผ่านมาจะพบว่า กรรมการ 4 ใน 7 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สสส. มาก่อน อย่าง รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร รศ.นภาภรณ์ หะวานนท์ และนายกิติศักดิ์ สินธุวนิช เป็นกรรมการและเคยรับทุน จึงสงสัยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการฯเช่นกัน"ดร.อานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.อานนท์ยังยืนยันอีกว่า เรื่องนี้หากมีคนร้องศาลปกครองขึ้นมา ถือว่าผิดได้เลย เพราะยังผิดหลักการประเมินของสมาคมการประเมินอเมริกา และธนาคารโลกด้วย หากคณะกรรมการฯ ของ สธ. พิจารณาเจอข้อมูลตรงนี้ ก็สามารถเสนอต่อ ป.ป.ช. หรือศาลปกครองพิจารณาได้เลย

***หนุนสาธารณสุขปฏิรูป สสส.

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการบางคนใน สสส. ไม่ได้มีส่วนในการพิจารณาหรืออนุมัติโครงการให้แก่องค์กรที่ตนเองอาจมีชื่ออยู่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า แม้จะไม่มีส่วน แต่เมื่อเป็นกรรมการ ถามว่าสมควรหรือไม่ เพราะเมื่อมีชื่ออยู่ในกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ และมีส่วนในการเสนอความเห็นกำหนดทิศทาง นโยบาย การทำงานต่างๆ ก็ถือว่าเกี่ยวข้อง และไม่สมควรทั้งสิ้น

ดร.อานนท์ กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ของ สธ.ตนสนับสนุนอย่างมาก เพราะมีส่วนในการปฏิรูปและกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส. ให้เข้าที่เข้าทาง มีขอบเขตตาม พ.ร.บ. โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ต้องไม่กว้างแบบครอบจักรวาล แต่ตนคงไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำงานของคณะกรรมการฯ ว่าจะต้องกำหนดทิศทางอย่างไร แต่ขอฝากความหวังในเรื่องการทำงานของ สสส.ให้มีการยึดโยงผลลัพธ์สุขภาพจริงๆ โดยควรมีการเปรียบเทียบระหว่างโครงการที่สนับสนุนกับไม่สนับสนุนว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งการประเมินผลงานไม่ควรมีแค่ตัวชี้วัดอย่างที่ สสส.ทำ แต่ควรมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้วยว่า มีผลต่อสุขภาพอย่างไร

***ยันหน่วยงานรับเงินต้องไม่เกี่ยวพันกัน

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หน่วยงานที่ให้เงินสนับสนุน ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รับเงิน ซึ่งในต่างประเทศเคร่งครัดเรื่องนี้ ถึงแม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่หากรู้จักกัน มีสายสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าทางตรงทางอ้อมก็ไม่ได้ แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจมีบุคคลที่เชี่ยวชาญงานเฉพาะด้าน อย่าง บุหรี่ เหล้า ไม่มากนัก การทำงานจึงต้องหมุนเวียนอยู่ในองค์กรเดิมๆ แต่ปัจจุบันมีคนเก่ง คนมีความสามารถมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องมีบุคคลจากกลุ่มเดียวมาทำงาน ซึ่งการกระทำแบบนี้จะเกิดคำถามเรื่องธรรมาภิบาลได้

“ปัญหาของประเทศไทย คือ มีวัฒนธรรมเดิมๆ โดยการดึงแต่คนเดิมๆ มาทำงาน บ้างก็ดึงคนรู้จัก เพราะเข้าใจว่าเมื่อรู้จัก สนิท จะสามารถทำงานประสานกันได้ดี แต่นั่นคือเส้นสาย แทนที่จะให้โอกาสบุคคลอื่นๆ คนรุ่นใหม่ที่รู้งานย่อมมีอยู่มาก อย่างการพิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุนโครงการใดๆ ก็ตาม เราต้องเฟ้นหาว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ มีกี่คน มีผลงานอะไร ไม่ใช่ดึงแต่คนเดิมๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นการปิดโอกาสเกินไป” ศ.นพ.อภิวัฒน์กล่าว

***"วรากรณ์"ยันไม่เคยเป็นกรรมการ

รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยเป็นกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.เลย ควรตรวจสอบให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่นำเสนอโดยปราศจากการตรวจสอบ แบบนี้ทำให้บุคคลอื่นเสียหายได้ แต่คงไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ก็ถือว่าทำให้เสื่อมเสียอยู่ แต่ขอแค่ตรวจสอบก่อนเผยแพร่จะดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับอีกหลายคน ซึ่งตนก็ยังไม่ได้คุยกับกรรมการคนอื่นๆ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะหลายคนตนก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ ยืนยันว่า คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กองทุน สสส. โดยทำหน้าที่ประมเนผลด้านนโยบายและการกำหนดกิจกรรมของกองทุน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบหรือเรื่องการเงินอะไรเลยแม้แต่น้อย

***"หมอยงยุทธ"ยันได้ทุนก่อนเข้ามา

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และผู้ทรงคุณวุฒิใน สสส. กล่าวถึงกรณีปรากฏชื่อเป็นกรรมการ สสส. และเกี่ยวข้องกับมูลนิธิที่ได้รับทุนจาก สสส. ว่า มูลนิธิที่มีชื่อตนเป็นกรรมการอยู่ ทั้งมูลนิธิองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เป็นมูลนิธิที่เสนอโครงการแและได้รับทุนจาก สสส. ในช่วงก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นกรรมการ สสส. เกือบ 2 ปี เรื่องนี้จึงเป็นการจับแพะชนแกะ ยืนยันว่าคณะกรรมการ สสส. ทุกคนระมัดระวังเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนมาก และตั้งแต่ตนมาเป็นกรรมการ สสส.ก็ไม่เคยเสนอโครงการ เพราะตระหนักดีเรื่องต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรว่าจะต้องไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ที่พิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ จะต้องมีการลงชื่อทุกครั้งที่จะประชุมพิจารณาว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ หากมีก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาได้

"ผู้ทรงคุณวุฒิจะเข้าร่วมพิจารณาโครงการที่ตนเองเสนอไม่ได้ ซึ่งช่วงที่ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. มา 10 ปี ไม่เคยพิจารณาโครงการที่ตนเองเสนอแม้แต่โครงการเดียว แต่องค์กรและผู้เสนอโครงการก็อยู่ในแวดวงคนทำงานด้านสังคมที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพราะคนทำงานสังคมมีจำนวนไม่มากนัก เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะไม่พิจารณาโครงการที่ตนเองเสนอ"นพ.ยงยุทธ กล่าว

***"สุวิทย์"ยันไม่จำเป็นต้องชี้แจง

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า การมีชื่อของตนเองออกมานั้น ตนไม่ได้เป็นผู้รับเงินเลย แต่มีชื่อเพราะเป็นหนึ่งในกรรมการมูลนิธิ ที่สำคัญตนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สสส. ดังนั้น คงไม่จำเป็นต้องชี้แจง เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใด หรือมีหนังสือใดมาเพื่อให้ชี้แจงแต่อย่างใด แต่หากมีการเชิญมา ก็พร้อมชี้แจงทุกอย่าง เพราะยืนยันไม่มีการโกง หรือทุจริตทั้งสิ้น

***ภาคีสุขภาพค้านดึงงบ สสส.กลับ

วันเดียวกันนี้ ภาคีสุขภาพ นำโดยนายธีระ วัชรปราณี ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดค้านการนำงบ สสส. เข้าสู่ระบบงบประมาณรัฐ โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการรมว.สธ. เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ และยืนยันว่า สธ.ไม่มีแนวคิดที่จะยุบ สสส.แน่นอน เพียงต้องการทำให้โปร่งใส เงินไปถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิก็เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจง

นายธีระ กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้การดำเนินงานของ สสส. เป็นไปตาม พ.ร.บ.สสส. ขอให้การทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการแก้ไขใดๆ ต้องไม่ทำให้ สสส. กลับไปเป็นระบบราชการ

***เรียกร้องตรวจสอบผู้ว่าฯ สตง.

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน กล่าวภายหลังยื่นหนังสือต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. และเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบ สสส. ประกอบกับมีข้อมูลบางอย่างจากผู้ว่าฯ สตง. สร้างความคลาดเคลื่อนและเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน เครือข่ายฯ ซึ่งเป็นผู้รับทุนไปทำโครงการต่างๆ ก็ยังไม่มีโอกาสชี้แจง จึงขอแสดงจุดยืนและขอให้ตรวจสอบ สตง. รวมถึงผู้ว่าฯ สตง.ว่า ทำไมถึงมาให้ข่าวอย่างผิดปกติในช่วงนี้ ทั้งที่ตรวจสอบมามากกว่า 10 ปี ไม่พบความผิดปกติ ผู้ว่าฯ สตง. ทำตามหน้าที่ด้วยความสุจริตหรือไม่ ส่วนงบสวดมนต์ข้ามปี ยืนยันว่าตรงตามวัตถุประสงค์กองทุน เพราะลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุ และขอคัดค้านการแก้ไขกฎหมาย สสส. ซึ่งจะทำลายเจตนารมณ์ของกองทุน สสส.
กำลังโหลดความคิดเห็น