xs
xsm
sm
md
lg

วิธีล้างการเมืองให้สะอาด

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกาศโรดแมปของประเทศ มีข้อหนึ่งกำหนดว่าการเลือกตั้งทั่วไปน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม หรือปลายปีหน้า แต่ช่วงนั้นจะมีรัฐบาลภายใต้ธรรมนูญการปกครอง และมี คสช.เป็นพี่เลี้ยง

รูปแบบนี้น่าจะซ้ำรอยรัฐบาลหอยหลังจากรัฐประหารปี 2519 และรัฐบาลขิงแก่หลังจากการรัฐประหารปี 2549 ระยะห่างกัน 30 ปี เพียงแต่แตกต่างในสาระสำคัญ อำนาจและบทบาทของคณะรัฐประหารเท่านั้น

ทำไมไม่หยุดพักการเมืองสัก 3-5 ปี?... เกรงแรงกดดันจากสหรัฐฯ และกลุ่มประชาคมยุโรปหรือ เมื่อ คสช.ทำรัฐประหารด้วยความรักชาติ สุจริตใจ จัดการวิกฤต ก็ไม่ควรห่วงประเด็นนี้ คนไทยและหลายประเทศก็สนับสนุนด้วย

เมื่อ คสช.กำหนดว่าจะต้องมีเลือกตั้งอีก 1 ปีกว่าๆ จากนี้ไป ชาวบ้านแปลกใจ ถามว่า “ทำไมต้องเร่งให้หวนคืนสู่การเมืองระบบเลือกตั้งเร็วขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ปัญหาหลักๆ ตัววิกฤตหลักของบ้านเมืองยังไม่ถูกจัดการให้เรียบร้อย”

และคำถามก็ยังไร้คำตอบเช่นเดิม ประเด็นที่ชาวบ้านเป็นห่วงก็คือ ยังมีหลายอย่างที่จำเป็นต้องปฏิรูป วางโครงสร้างใหม่เพื่อความยั่งยืน มีรากฐานดีกว่าหลังจากอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมภายใต้ระบอบบักเหลี่ยมนานกว่า 10 ปี

บอกตรงๆ ชาวบ้านกลัวมากว่าการเมืองเลือกตั้งจะทำให้ระบอบบักเหลี่ยมหวนคืนสู่อำนาจโดยพลังเงิน เครือข่ายบริวารที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซุ่มเงียบกบดาน รอจังหวะ และยังมีขบวนการเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ

นโยบายและมาตรการขับเคลื่อนให้มีการปรองดองสำหรับทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ อย่างที่ประโคมข่าวป่าวร้องทุกวันนี้ ถ้าไม่หลอกตัวเองเกินไป ก็ต้องรู้ว่าน้ำกับน้ำมันไม่มีวันผสมกันได้ ความคิดการเมืองสุดขั้วไม่มีทางประสานกันสำเร็จ

ชาวบ้านได้แต่เชื่อว่า ถ้ายังไม่จัดการอะไรให้สะเด็ดน้ำ การเมืองจะเป็นเหมือนเดิม การเดินขบวนในบรรยากาศประชาธิปไตยก็มี แต่จะลามไปสู่การใช้อาวุธสงครามฆ่าฟันกันหรือไม่นั้น สุดแล้วแต่กลไกรักษากฎหมายภายใต้ คสช.

ที่พูดอย่างนี้ไม่มีเจตนาขัดขา ขัดคอ หรือขัดขวางมาตรการปรองดองแต่อย่างใด ดูสภาพปัจจุบันก็รู้ว่าเครือข่ายบักเหลี่ยมยังนั่งๆ นอนๆ ซุ่มกลืนเลือด ส่วนลึกล้ำกว่านั้นใครมีอะไรกับใครพิเศษหรือไม่นั้น เป็นแต่เพียงการคาดเดา

จินตนาการของคนห้ามกันไม่ได้ ยิ่งปิดกั้นความคิด คำพูดการแสดงออกก็ยิ่งทำให้เตลิดเปิดเปิง จับแพะชนแกะ กระพือข่าวลือไม่พึงปรารถนาทั้งนั้น จะโทษชาวบ้านไม่ให้คิดมากก็ไม่ได้ เมื่อทิศทางความเป็นไปบ่งชี้ว่าจะเป็นเช่นนั้น

ถ้าระบอบบักเหลี่ยมหวนคืนสู่อำนาจได้สำเร็จ จะมีวิกฤตรอบใหม่ ล้างแค้นทางการเมืองรุนแรง ไร้ความปรานีหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่กรรมของบ้านเมือง ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษาเอาไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยวิกฤตเดิมอีก

เอาเถอะ...เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย...ถึงเวลานั้น คสช.หรือรัฐบาลที่ คสช. กำกับน่าจะมีมาตรการอะไรทำให้ชาวบ้านมั่นใจว่าระบอบบักเหลี่ยมจะสิ้นเชื้อ การเมืองหลังปฏิรูปจะนำไปสู่ยุคศิวิไลซ์ ตามโหรวารินทร์ ของ คมช. คสช.ว่าไว้

ไหนๆ จะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรมีมาตรการบางอย่างป้องกันไม่ให้ขบวนการชั่วร้ายคืนสู่อำนาจ เพื่อให้มีการเมืองโดยคนสะอาด ปราศจากทุจริต บนหน้าเฟซบุ๊กวันก่อนผมได้เสนอวิธีป้องกันไว้ดังนี้

ขอให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองเลือกตั้งทุกระดับ โดยมีตัวแทนของสรรพากร ศุลกากร สรรพสามิต ป.ป.ช. ปปง. ปปท. สตง. ทหาร ตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ องค์กรภาคประชาชนต่างๆ จำนวนประมาณ 24 คน จะมากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้

ให้คณะกรรมการถูกเสนอชื่อโดยองค์กรของตนเอง ทำงานในลักษณะถาวร โดยสลับเปลี่ยนตัวบุคคลหมุนเวียนกันทุก 3-6 เดือน เพื่อไม่ให้ผู้ประสงค์รับสมัครเลือกตั้งสร้างอิทธิพลครอบงำ เปิดโอกาสให้ใช้เงินวิ่งเต้นได้

ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องผ่านการสอบถามโดยคณะกรรมการนี้ ถ่ายทอดสดผ่านทีวีช่องพิเศษตลอด 24 ชั่วโมงให้ประชาชนได้รับรู้ โดยให้คณะกรรมการสอบถามประวัติ พฤติกรรม ครอบครัว อาชีพ รายได้ การเสียภาษี อย่างละเอียด และเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งคำถามเข้าไปด้วย

หลังจากการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับบุคคลแล้ว คณะกรรมการชี้ขาดได้ว่ามีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ และผู้สมัครไม่มีสิทธิอิดออด ไม่ตอบคำถาม เพื่อความโปร่งใส สุจริตใจ เมื่ออ้างว่าต้องการรับใช้ประชาชน

ผมเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยสกัดนักการเมืองชั่วร้าย ประวัติเน่าเสียหน้าเดิมๆ ออกไปเยอะ เพราะต้องเสี่ยงตอบคำถามจากกรรมการและประชาชน ถ้าใครไม่สะอาดเพียงพอ จะไม่กล้าเข้าไปถูกซัก เช่น เรื่องรายได้ การเสียภาษี พฤติกรรมส่วนตัว ความร่ำรวยน่าสงสัย เพราะเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี

ตัวแสบๆ คนในตระกูลชั่วร้ายจะหายหน้าไป ไม่กล้าสืบทอดตำแหน่ง ถ้ากรรมการชี้ขาดแล้ว ครั้งต่อไปยังสามารถยื่นสมัครให้ตรวจสอบใหม่ได้ ถ้ามั่นใจ อ้อ! กรรมการต้องมีประวัติสะอาดด้วย! คสช.สนใจมาตรการนี้มั้ย?
กำลังโหลดความคิดเห็น