สกศ. ถกร่วมองค์กรต่างประเทศ พบไทยเก็บข้อมูล ตัวชี้วัดไม่สอดคล้องหายเรื่องส่งผลต่ออันดับการศึกษาของไทย “สุทธศรี” ระบุเร่งสร้างความเข้าใจ และจัดทำฐานข้อมูล ตัวชี้วัดใหม่หวังช่วยอันดับไทยกระเตื้องขึ้น ทั้งเตรียมสร้างกรอบมาตรฐานด้านการศึกษา การเรียนการสอนรูปแบบใหม่
นางสุทธศรี วงษ์สมาน เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้หารือร่วมกับองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics: UIS) ในการดำเนินการจัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดตามแบบการจัดเก็บข้อมูล WEI Data Collection ของโครงการ World Education Indicators (WEI) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลสถิติระดับโลก ซึ่งมีข้อมูลหลากหลายในรายละเอียดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาของไทยในฐานข้อมูลระดับโลกด้วย
“ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์รายละเอียดข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล ตัวชี้วัดต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เบื้องต้น พบว่า การเก็บข้อมูลของประเทศไทย และการเก็บข้อมูลตามการจัดเก็บข้อมูล WEI นั้นไม่สอดคล้องกันในหลายเรื่อง เช่น การเก็บข้อมูลอัตราการเข้าเรียนเด็กประถม ไทยเก็บอายุ 6 ปี แต่ WEI เก็บในช่วงอายุ 7 ปี ทำให้ข้อมูลที่ได้เกิดความคลาดเคลื่อน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ประเทศไทยในฐานะเครือข่ายผู้ทำหน้าที่จัดเก็บและเป็นผู้ใช้ข้อมูลการศึกษา จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับทางองค์กรต่างประเทศ เพื่อให้การจัดทำระบบข้อมูลมีความสอดคล้องกัน เพราะหากประเทศไทย สามารถจัดเก็บข้อมูล ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับทางองค์กรต่างประเทศกำหนดได้ เป้าหมายที่อันดับการศึกษาของไทยจะสูงขึ้น อย่างที่ประกาศไว้ว่า 5 ปี อันดับการศึกษาไทย จะขึ้นมา 5 อันดับ สามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของการหารือในการจัดทำเก็บข้อมูลดังกล่าว ทาง สกศ. จะสรุปและเสนอกระทรวงศึกษาธิการต่อไป” เลขาธิการ สกศ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ จะเร่งขับเคลื่อนเรื่องกรอบมาตรฐานด้านการศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เช่น การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การเรียนผ่านแอปพลิเคชัน หรือการเรียนในห้อง Smart Classroom เป็นต้น เพราะการเรียนในทุกรูปแบบต้องอิงกับมาตรฐาน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ ดังนั้น สภาการศึกษา จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกรอบมาตรฐานการศึกษา โดยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการในแต่ละด้าน และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กำหนดกรอบมาตรฐานดังกล่าวไม่ไปซ้ำซ้อนกับกรอบมาตรฐานที่แต่ละหน่วยงานกำหนดไว้อยู่แล้ว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่