ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน เครือข่ายจักรยาน และเหยื่อเมาแล้วขับเรียกร้อง “เมา+ขับ = ฆาตกร” ปล่อยให้ผิดซ้ำซากไม่ได้ เรียกคืนถนนปลอดภัยสำหรับทุกคน
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่โรงแรม เอทัส พระราม 4 ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน พร้อมด้วยญาติและเหยื่อนักปั่นจักรยานในเหตุการณ์กลุ่มนักปั่นจักรยานสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกรถยนต์ขับโดยคนเมาขับชนจนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ร่วมกันเสวนาและแสดงเจตนารมณ์เรียกร้องให้ สังคมไทย และคนในประเทศร่วมกันกำจัดให้คนเมาแล้วขับออกไปจากถนนทุกสาย ระบุชัดเหตุที่เกิดซ้ำซากทุกวันนี้ เพราะคนเมาไม่กลัวกฎหมายรุนแรงสาหัสเพียงใดโทษยังอยู่แค่รอลงอาญา เชื่อสังคมต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและการกระทำ ย้ำให้เกิด “เมา+ขับ =ฆาตกร” จับขัง ไร้รอลงอาญา
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หลังเหตุการณ์กลุ่มนักปั่นจักรยานชาวเชียงใหม่ ประสบอุบัติเหตุจากการถูกรถที่ขับโดยคนเมาที่มีพฤติกรรมการขับอย่างขาดสติ จนเกิดเหตุอันน่าโศกเศร้าและน่าตกใจถึงความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้งของสังคม สะท้อนออกอย่างชัดเจนของผู้ใช้รถใช้ถนนของประเทศไทยว่าเป็น “เหยื่อของระบบที่ไม่สมบูรณ์” ทั้งวินัยและพฤติกรรมของคนขับรถ การบังคับใช้กฎหมาย ความหนักเบาของบทลงโทษผู้กระทำผิด ความพร้อมของสภาพถนนต่อผู้ใช้รถใช้ถนนทุกประเภท ทำให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดซ้ำซากยกชาวจักรยานเป็นกลุ่มคนที่ขับขี่อย่างสร้างสรรค์ รักธรรมชาติ แต่กำลังอยู่ในอันตรายบนถนนของประเทศไทย
การเสวนาและแถลงข่าวร่วมกันของภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เครือข่ายจักรยาน และญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ต้องการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสังคมที่กำลังเพาะเป็นปัญหาระดับชาติอย่างน่ากลัว ต้องการชี้ให้เห็นถึงทางออกด้านกฎหมายการตัดสิน การหาทางออกร่วมกันด้วยการใช้มาตรการองค์กรบังคับคนทำผิดร่วมกัน การเคลื่อนไหวในวันนี้คือโอกาสสำคัญที่ทุกฝ่ายจะหาทางออกคืนความปลอดภัยทางถนนให้กับทุกคนในสังคม การเสียสละของเครือข่ายที่มาจากเชียงใหม่จะทำให้สังคมเกิดการจัดระเบียบ ทำให้คนที่เสียไปแล้วไม่ตายฟรี
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุ จักรยานเป็นเรื่องของ Slow Speed พอจักรยานเพิ่มมากขึ้น สังคมต้องมาดูเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น สถานการณ์ขณะนี้ คดีอุบัติเหตุจราจรทางบกประเภทรถจักรยาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับกระบวนการมาตั้งแต่ปี 2552 แม้จะปรับมาแล้วแต่ละปีจะเกิดคดีกับจักรยานไม่ต่ำกว่า 380 คดี ไม่นับชนเล็กชนน้อย เฉลี่ยเสียขีวิตวันละ 2 ราย ก่อนหน้านี้ มีกรณีของหัวหน้ากองคลังเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม ปีที่แล้วก็มีคดีคนไทยขับชนเยาวชนที่ขี่รถจักรยานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นไม่มีประกันแต่ต้องเข้าคุก จากที่เครือข่ายจักรยานเชียงใหม่บอกว่า หลบนักขับรถที่เมาจากเย็นมาเป็นเช้า คล้ายกรณีของหัวหน้ากองคลังเทศบาลที่มาเป่าตอนเช้า กระแสในพันธ์ทิพย์เพิ่มมากขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการเรียกร้องในกระดานบอร์ดพันธ์ทิพย์ว่า ทำไม่มีการลงโทษ ยังคงปล่อยไว้ ผิดกับสองวันก่อนที่มีคดีจากทางสหรัฐอเมริกา ศาลฟลอริดา ตัดสินเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลตัดสินวัยรุ่นอายุ 20 ปี ไปสังสรรค์แล้วโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า เมาไม่สน (Too drunk to care) สุดท้ายรถไปชนรถอีกคันที่ขับสวนมาทำให้วัยรุ่นในรถอีกคันเสียชีวิตทั้งคู่ สิ่งที่เห็นคือ ศาลตัดสินสูงสุด 30 ปี บ้านเราเมาขับ ถ้าเป็น รพ.คนบาดเจ็บเข้ามาอยู่ราว 30% มีแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ถ้าเป็นคดีของ สตช. ปีละ 7 - 8 พันคดีที่เมาขับ และเป็นกลุ่มจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่จักรยานเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นเหยื่อของคนเมามากขึ้น
ช่องว่างของสังคมที่เกิดขึ้นคือ คนไทยยังเชื่อว่า อุบัติเหตุเป็นเรื่องของคราวเคราะห์ถึง 21% ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม สังคมดื้อยา คนเมาดื้อด้านกลายเป็นความสูญเสียที่เกิดกับครอบครัวของสังคม ถ้ายังไม่มีการจัดการที่แท้จริง หรือใช้ “ยาแรง” กว่านี้ปัญหาจะสะสมต่อไปอีกนาน ข้อมูลจากใบมรณบัตรบันทึกชัดเจนว่า ทุกวันนี้มีคนตายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถวันละ8 คน (ทั้งดื่มขับไปชนคน ดื่มขับรถเอง หรือเป็นผู้โดยสารและคนเดินเท้า) ไม่นับรวมเหยื่อที่ถูกคนเมาชนตายในช่วงเทศกาลอย่างสงกรานต์ที่ผ่านมา สาเหตุหลักๆของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงร้อยละ 39.31 คือ เมาแล้วขับทำให้ตายถึงร้อยละ 24 คนดื่มแล้วขับมีถึง 37% เคยดื่มขับในรอบปี ซ้ำยังคิดว่า ดื่มแล้วขับได้ถ้ามีสติถึง 21%
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ ต้องล้างทัศนคติที่ว่า “การดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ” ให้ออกไป หยุดการดื่มสังสรรค์ในแบบตระเวนไปหลายๆ ร้าน ถ้าดื่มแล้วต้องยอมให้คนที่ไปด้วยไม่ได้ดื่มช่วยขับรถ เมื่อเกิดคดีขึ้นต้องมีการบันทึกข้อมูล “ความผิดซ้ำ” เพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการ “เพิ่มโทษตามลำดับขั้นความผิด” ด้านการตัดสินในชั้นศาลส่วนใหญ่ที่จบคดีคนเมาว่าเป็นเรื่อง “ประมาท” ต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องของ “เจตนา” กระทำผิด เห็นได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลี สิงคโปร์ ตัดสินคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้ทั้งสิ้น ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ แรงหนุน จากต้นสังกัดและกระแสสังคม ยกตัวอย่าง การใช้มาตรการองค์กรกับพนักงาน สถาบันการศึกษา ลงโทษที่ทำให้เกิดเหตุชนคนตายหรือบาดเจ็บ ด้วยการไล่ออกจากงานหรือให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ข้อสุดท้าย คือ รัฐบาลต้องสนับสนุน “เครื่องตรวจเมา” และค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบ (calibrate) เครื่องให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 เครื่องต่อสถานีตำรวจภูธร ไม่ใช่มีเพียงแห่งละเครื่องอย่างทุกวันนี้
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิเมาไม่ขับรณรงค์ “เมาไม่ขับ” เพื่อเรียกร้องไม่ให้คนเมาออกมาขับรถบนท้องถนน สร้างปัญหาอุบัติเหตุทางถนนซ้ำซาก...ทำให้คนเจ็บตายมากมาย แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอทำให้เราต้องรณรงค์เข้มข้นขึ้นเป็น เมา+ขับ = จับ+ขัง เพราะไม่อย่างนั้นปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ ยังจะเกิดซ้ำอย่างนี้เหมือนเดิม แปลว่าทุกวินาทีมีคนรอเจ็บตายอยู่บนท้องถนนอีกมาก เพราะฉะนั้น เมา+ขับ =จับ+ขัง นี่คือมาตรการเดียวที่เราจะต้องทำในตอนนี้ มูลนิธิเมาไม่ขับรณรงค์มานาน แต่พฤติกรรมของคนเมาแล้วขับก็ยังเกลื่อนถนน ซ้ำคนเมาแล้วขับเขาก็ยังไม่กลัวโดนจับ ผู้ถูกคุมประพฤติหลายคนบอกว่า คนเมาแล้วขับไม่กลัวหรอก เพราะเมาแล้วขับโทษก็แค่รอลงอาญา แสดงให้เห็นว่า...เขาพร้อมที่จะกระทำผิดซ้ำได้เสมอ การณรงค์อย่างเดียวนั้นคงไม่พออีกต่อไปแล้ว คนเหล่านี้เขารู้ว่าเมื่อเมาแล้วออกไปขับรถ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดการบาดเจ็บล้มตายได้ซ้ำยังรู้ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย สิ่งเดียวที่จะทำให้เขากลัวได้ คือ “การติดคุก” เท่านั้น แต่ตอนนี้ทุกคนไม่กลัวคุก เพราะคำว่า รอลงอาญา เราต้องมีบทลงโทษคนที่เมาแล้วขับอย่างจริงจัง เมา+ขับ = จับ+ขัง เพื่อเรียกร้องให้คนเมาออกจากถนน
ด้านญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อุบัติเหตุสาวเมาแล้วขับชนนักปั่นจักรยานสันทรายที่จังหวัดเชียงใหม่เล่าว่า เกือบทุกท่านที่เสียชีวิตออกปั่นจักรยานทุกวันตอนเช้าและชอบปั่นกันเป็นกลุ่มเพื่อท่องเที่ยวออกกำลังไปยังที่ต่างๆ จะรอกันเป็นกลุ่มหากใครมาช้าทุกคนจะรอกัน ทั้ง 3ครอบครัวล้วนแล้วแต่สูญเสียผู้นำครอบครัว ครอบครัวหนึ่งต้องดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพและมีโรคประจำตัว ครอบครัวที่สองดำรงชีพด้วยการค้าขายโดยผู้เสียชีวิตเป็นหลัก ภรรยาเป็นแม่บ้านที่ไม่เคยทำอาชีพใดมาก่อนเพียงเลี้ยงดูบุตรชายสองคน ส่วนครอบครัวสุดท้ายสูญเสียลูกชายที่เป็นเสาหลักของบ้านและเป็นช่างฝีมือซ่อมที่เก่งมากของบริษัท
เครือข่ายนักปั่นจักรยานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในสภาพการปั่นจริงๆ กลุ่มมีลักษณะตามธรรมชาติการปั่นจักรยานเป็น 3 แบบ คือ แบบปั่นในชีวิตประจำวัน (แม่บ้าน เด็กนักเรียน) กลุ่มที่สองปั่นแบบนักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กลุ่มที่ 3 ปั่นเพื่อการท่องเที่ยวและสุขภาพ สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ หนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า ในที่เกิดเหตุเขาเป็นผู้ที่บันทึกคลิปภาพที่เผยแพร่กันทั่วทั้งSocial media พบว่า ผู้หญิงที่ขับรถยนต์มีอาการมึนเมามาเต็มที่จากกลิ่นแอลกอฮอล์ที่แรงมาก ตนได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณดังกล่าวให้มาช่วยเป็นพยาน และยืนยันว่าการปั่นจักรยานทำให้สุขภาพดีแข็งแรง เวลาไปด้วยกันนักปั่นจักรยานต้องมีจิตใจแน่วแน่มุ่งมั่น ใช้ทรัพยากรน้อยมาก การที่มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นไม่พอใจนักปั่นจักรยานว่า ถนนไม่ออกแบบมาเพื่อปั่นจักรยาน จักรยานไม่ควรปั่นบนถนน หรือมีกระทั่งวิจารณ์ชุดอุปกรณ์นักปั่นว่าเป็นเรื่องการอวดโอ้ของชนชั้นกลาง ตนขอฝากให้สังคมคิดว่า นักปั่นจักรยานมีสิทธิใช้ถนนอย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน เรื่องชุดหรืออุปกรณ์ของนักปั่นจักรยานนั้นกีฬาแต่ละชนิดมีชุดของกีฬานั้นๆ อาทิ ฟุตบอลมีชุดนักแข่งขัน จักรยานมีชุดของจักรยาน ขอให้ทำความเข้าใจให้ชัดเจน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่