xs
xsm
sm
md
lg

โรคกระเพาะห้ามดื่มกาแฟ ยิ่งแสบท้อง แนะคนอ้วนดื่มแต่น้อย เลี่ยงน้ำตาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยแนะดื่มกาแฟพอเหมาะ ช่วยตื่นตัว ตาสว่าง หายง่วง หลั่งน้ำย่อย กรดในกระเพาะอาหาร แต่เตือนคนเป็นโรคกระเพาะไม่ควรดื่ม เหตุยิ่งแสบกระเพาะมากขึ้น แนะคนอ้วนดื่มปริมาณน้อย ไม่ใส่น้ำตาล

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ซึ่งต่อวันเราไม่ควรรับคาเฟอีนมากเกิน 200 มิลลิกรัม นั่นคือไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 แก้ว ซึ่งการดื่มที่พอเหมาะจะการกระตุ้นให้ร่างกายและประสาทให้ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ตาสว่าง หายง่วง หลั่งน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น แต่ถ้ามากกว่านี้จะทำให้เกิดอาการมือสั่น ใจสั่น หงุดหงิด กระวนกระวาย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะควรงดดื่มกาแฟ เพราะจะทำให้ปวดแสบกระเพาะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า หากดื่มกาแฟ 2 ถ้วยจะทำให้ความดันโลหิตสูง แต่ถ้าดื่มมากๆ มีผลทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ รวมถึงเพิ่มการขับปัสสาวะด้วย

นพ.พรเทพ กล่าวว่า กาแฟเย็น 1 แก้ว ขนาดบรรจุ 13-20 ออนซ์หรือ 400-600 มิลลิลิตร จะให้พลังงาน 97-400 กิโลแคลลอรี ไขมัน 0.4-22.1 กรัม โปรตีน 0.6-10.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 19.4-49.4 กรัม และน้ำตาล 11-38 กรัม ซึ่งปริมาณพลังงานของกาแฟขึ้นอยู่กับสูตรและขนาดบรรจุ โดยมอคคาเป็นกาแฟที่มีพลังงานมากกว่าลาเตและคาปูชิโน จากการเก็บตัวอย่างกาแฟมาตรวจพบว่า ขนาด 16 ออนซ์ มอคคามีพลังงาน 238 กิโลแคลอรี น้ำตาล 26 กรัม คาปูชิโนมีพลังงาน 200 กิโลแคลอรี น้ำตาล 28 กรัม ส่วนลาเตมีพลังงาน 156 กิโลแคลอรี น้ำตาล 22 กรัม ส่วนเอสเปรสโซหรืออเมริกาโนมีพลังงานน้อยที่สุด เพราะไม่ใส่นมและน้ำตาล ส่วนกาแฟเย็นที่มีพลังงานมากที่สุดคือ มอคคา มีพลังงาน 400 กิโลแคลอรีต่อแก้วขนาด 20 ออนซ์

"การดื่มที่ไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพสามารถทำได้ โดยปฏิบัติให้เหมาะกับภาวะสุขภาพของแต่ละคน ผู้ที่มีปัญหาอ้วนลงพุงหรือโรคเบาหวานต้องจำกัดปริมาณ โดยเลือกขนาดบรรจุเล็กๆ ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพควรจะป้องกันไว้ก่อน โดยไม่ดื่มกาแฟเย็นพร้อมกับขนมหวานหรือเบเกอรีเพราะจะทำให้เพิ่มพลังงานให้มากขึ้น หรือเมื่อดื่มกาแฟเย็นแล้วอาจลดอาหารหวาน มัน หรืออาหารทอดในมื้ออาหารหลักลง เพื่อไม่ให้ผู้ที่นิยมดื่มกาแฟเย็นมีความเสี่ยงที่จะได้รับพลังงานเกิน นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็สามารถช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินที่ได้จากการบริโภค ยังทำให้หัวใจแข็งแรง ร่างกายกระฉับกระเฉง โดยเลือกวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตนเอง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น