สธ. โต้! กระแสโซเชียลระบุ นมเปรี้ยวช่วยลดแอลกอฮอลล์ ไม่เป็นความจริง เตือนอย่าหลงเชื่อและไม่ควรแชร์ข้อมูลผิดๆ อีกทั้งอาจก่ออันตรายกับผู้ดื่มแล้วขับ - เมาแล้วขับ เพราะแอลกอฮอล์ยังอยู่ในเลือดเช่นเดิม พร้อมกำชับด่านชุมชนเข้มสกัดเมาไม่ขับ สั่งเพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพ 2 เท่าตัวรับมือวันมหาสงกรานต์ เพราะจากสถิติมีอุบัติเหตุสูงทุกปี ปลื้มผลการทำงานด่านชุมชนรอบ 4 วัน ได้ผลดีไม่พบเจ็บ - ตาย
วันนี้ (13 เม.ย.) ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข ในการรับมือกับปัญหาอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 ว่า ในรอบ 4 วันที่ผ่านมาพบว่าได้ผลดี ประชาชน โทร. แจ้งสายด่วนหมายเลข 1669 จำนวน 2,845 ครั้ง ทีมแพทย์กู้ชีพออกปฏิบัติงาน 4,445 ครั้ง เฉลี่ยเกือบทุกนาที ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บสาหัส 3,740 ราย คิดเป็นร้อยละ 88 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ทีมกู้ชีพออกปฏิบัติการได้ในเวลา 10 นาที ร้อยละ 81 ส่วนในโรงพยาบาลสามารถรับมือได้ดี
อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 เมษายน 2558 เป็นวันมหาสงกรานต์ ซึ่งพบว่าทุกปีจะเป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้สั่งการให้หน่วยงานในสั่งกัดเข้มข้น ใน 3 มาตรการ ได้แก่ 1. ด่านชุมชนสกัดไม่ให้มีการเมาแล้วขับ โดยให้ อสม. ร่วมกับผู้นำชุมชนออกตรวจเตือนกลุ่มเสี่ยงให้ดื่มเหล้าในบ้าน ผู้ขับมอเตอร์ไซค์ให้ใส่หมวกกันน็อค ซึ่งจากการติดตามใกล้ชิดใน 8 จังหวัด 15 อำเภอ 160 ด่านชุมชน เช่น บุรีรัมย์ ที่ อ.พุทไธสง ตั้ง 95 ด่าน สุโขทัย ที่ อ.ศรีสัชนาลัย ตั้ง 7 ด่าน ขอนแก่น ที่ อ.แวงน้อย ตั้ง 17 ด่าน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ได้ผลดีมาก ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยได้สกัดผู้ที่ดื่มสุราได้หลายรายบางรายเป็นผู้ขับขี่ดื่มสุราและมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 223 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ได้สกัดไว้และให้ญาติมารับตัวกลับบ้าน ซึ่งหากปล่อยให้ขับรถไปจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์กว่า 40 เท่าตัว ขอความร่วมมือสมาชิกครอบครัวและผู้ร่วมเดินทางช่วยดูแลผู้ขับขี่ที่สภาพร่ากายไม่พร้อม เช่น เมา หรือ ง่วง ไม่ให้ขับและควรพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมก่อนขับขี่ 2. เพิ่มกำลังแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ซึ่งขณะนี้เขตสุขภาพทุกเขตเตรียมพร้อมโรงพยาบาลและระบบการส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่ออย่างเต็มที่ 3. ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่ออกตรวจควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
ด้าน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดียว่าการดื่มนมเปรี้ยวจะช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและจะตรวจไม่พบเมื่อเจ้าหน้าที่ให้เป่าในเครื่องตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ ขอชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน นมเปรี้ยวไม่มีฤทธิ์ทำลายแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด จะทำให้เป็นอันตรายกับผู้ที่ดื่มแล้วขับหรือเมาแล้วขับ เพราะแอลกอฮอล์ยังอยู่ในเลือดเหมือนเดิม จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องหรือตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะแชร์เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับผลการตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรอบ 11 วัน ทั้งก่อนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตรวจทั้งหมดรวม 1,365 ราย ใน 36 จังหวัดทุกภาค พบผู้กระทำผิด 398 ราย ความผิดอันดับหนึ่ง คือ การส่งเสริมการขาย 165 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา ที่เหลือขาย ลด แลก แจก แถม 66 ราย ขายในสถานที่ต้องห้าม 33 ราย และขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 8 ราย ดื่มในที่ห้ามดื่ม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ จำนวน 61 ราย ขายผิดเวลา 57 ราย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่