โดย พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)
เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็ก ที่รอคอยที่จะได้เล่นสาดน้ำ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานนี้ พ่อแม่ก็จำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของเจ้าตัวในทุกด้านทั้งอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที และความเจ็บป่วยอันเกิดจากการเล่นน้ำนานเกินไป เป็นต้น
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กรมการแพทย์ จึงอยากฝากเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกรัก เพื่อเป็นคู่มือปฏิบัติให้ทุกครอบครัวผ่านช่วงเวลาสงกรานต์นี้ไปได้โดยไม่ต้องเสียน้ำตา ดังนี้
1. เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เล่นน้ำสงกรานต์ได้หรือไม่ และระยะเวลาที่เหมาะสมในการเล่นน้ำคือเท่าไร
เด็กเล็กต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เพราะยังไม่สามารถควบคุมตนเอง หรือระวังอันตรายได้ดี การออกไปเล่นน้ำสงกรานต์กับผู้อื่นนอกบ้าน จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม การเล่นน้ำสงกรานต์ในเด็กเล็กสามารถทำได้ โดยเป็นการเล่นน้ำกับบุคคลในครอบครัว ใช้ปืนฉีดน้ำกระบอกเล็ก หรือ ประพรมน้ำกันเบาๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะเด็กยังไม่รู้ว่าการเล่นน้ำแบบสาดน้ำคืออะไร ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเล่นแก่เด็ก ไม่เล่นน้ำแบบผู้ใหญ่กับเด็ก แค่นี้เด็กก็สามารถเล่นน้ำสงกรานต์ได้อย่างสนุกและปลอดภัย นอกจากนี้ อาจปลูกฝังประเพณีที่ดีให้แก่เด็ก โดยก่อนหรือหลังเล่นน้ำให้มารดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งในเด็กเล็กแค่การได้รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็กๆ แล้ว
2. เด็กอายุมากกว่า 5 ปี หากเล่นน้ำสงกรานต์ ควรดูแลในเรื่องใด และระยะเวลาที่เหมาะสมในการเล่นน้ำคือเท่าไร
ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงเช่นกัน เนื่องจากการเล่นน้ำเมื่อร่างกายเจอกับน้ำ และ สภาพอากาศที่ร้อน จะทำอุณหภูมิร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ง่าย
3. เด็กวัยต่ำกว่ากี่ปี ที่ไม่ควรติดตามพ่อแม่ผู้ปกครองไปเล่นน้ำสงกรานต์โดยอยู่บนท้ายรถกระบะ เพราะอะไร
การเล่นน้ำสงกรานต์บนรถกระบะ เป็นการเล่นที่ไม่ปลอดภัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งผู้เล่นและผู้ใช้รถใช้ถนนข้างเคียง ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุรถชน เนื่องจากถนนลื่น หรือมองไม่เห็นทาง อุบัติเหตุรถคว่ำจากบรรทุกน้ำหนักเกิน และพลัดตกจากรถ ขณะรถแล่นเร็ว เป็นต้น
4. เด็กมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยไม่สบายหลังการเล่นน้ำสงกรานต์จากโรคใดได้บ้าง
1. โรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด คออักเสบ หูอักเสบ ปอดบวม 2. โรคทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง จากอาหารและน้ำไม่สะอาด 3. โรคตาแดง จากการเล่นน้ำที่ไม่สะอาด หรือจากการปาน้ำแข็ง ใช้ดินสอพอง อันตรายอาจถึงกับตาบอดได้ 4. โรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ผดร้อน 5. โรคลมแดด (Heat stroke) เกิดจากอากาศที่ร้อนมากๆ ในช่วงที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ช่วงกลางวันหรือบ่าย ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้มีการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก ยิ่งเด็กเล็กโอกาสเกิดการเสียน้ำยิ่งง่าย 6. สารปนเปื้อนจาก ดินสองพอง หรือจากน้ำผสมสี เช่น โลหะหนัก สารตะกั่ว เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อบาดทะยัก เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และ 7. อันตรายจากอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้ม รถชน หรือจมน้ำเป็นต้น
5. ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังการเล่นน้ำสงกรานต์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเพื่อความปลอดภัยของลูกมีอะไรบ้าง
ข้อควรปฏิบัติก่อนการเล่นสงกรานต์
1. เลือกสถานที่เล่นให้กับเด็กอย่างปลอดภัย และกำหนดขอบเขตให้เด็กทราบก่อน เช่น ไม่เล่นใกล้ถนน หรือ บ่อน้ำ เพราะระหว่างเล่นจนเกิดความสนุก เด็กจะลืมและไม่ระวังความปลอดภัยของตนเอง 2. กำหนดระยะเวลาการเล่นน้ำสงกรานต์กับเด็ก และบุคคลที่จะดูแลเด็ก 3. อธิบายวิธีเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถูกต้องแก่เด็ก เช่น ไม่เล่นน้ำแข็งหรือดินสอพอง และ 4. มีบุคคลที่สามารถดูแลเด็กได้ตลอดโดยไม่ให้เด็กคาดสายตา ดังนั้นผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำจนสนุกจนเกินไปจนลืมดูเด็ก
ข้อควรปฏิบัติหลังการเล่นสงกรานต์
1. อาบน้ำหลังเล่นให้สะอาด สวมเสื้อผ้าที่แห้งสบาย ให้ความอบอุ่น หากมีอาการหนาว อาจจิบน้ำอุ่นช่วย 2. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรเล่นน้ำติดต่อกันหลายวัน เพราะร่างกายจะเหนื่อยล้า ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำเกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย 3. รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และ ถูกสุขอนามัย และ 4. เฝ้าสังเกตอาการป่วยหลังหยุดเล่นน้ำภายใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องดูแลเมื่อให้เด็กเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยและสนุก
1. สถานที่ ต้องเป็นสถานที่ๆปลอดภัย ไม่ควรเล่นริมฟุตปาท กลางถนน หรือบนรถ เพื่อไม่เกิดอุบัติเหตุพลัดตก หรืออุบัติเหตุทางจราจร และต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลให้อยู่ในสายตาตลอด ไม่ควรเล่นน้ำตอนกลางคืน เพราะแสงสว่างในช่วงกลางคืนอาจไม่เพียงพอต่อการมองเห็น มีโอกาสเสี่ยงเกิดอันตรายได้มาก
2. อุปกรณ์ในการเล่น ใช้น้ำประปาอุณหภูมิปกติ ไม่ใช้น้ำแข็ง ดินสอพอง หรือน้ำผสมสี เพราะเด็กอาจปาน้ำแข็งกันให้เกิดอุบัติเหตุ หรือนำเข้าปากได้
3. เสื้อผ้า สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆไม่คับแน่นจนเกินไป และต้องสบาย เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี
4. กลุ่มคนที่เล่นด้วย ควรเป็นกลุ่มที่มีการเล่นน้ำที่ไม่รุนแรงเพราะ จะเป็นแบบอย่างในการเล่นน้ำของเด็กต่อไป ไม่ใช้สารเสพติดมึนเมา ในเด็กควรเฝ้าดูแลเรื่องการถูกลวนลาม
5. ช่วงเวลาที่เล่น ควรเลี่ยงช่วงที่อากาศร้อนจัด เช่น ช่วงใกล้เที่ยง เนื่องจากเด็กจะสูญเสียน้ำในร่างกายเป็นจำนวนมากเพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกาย และระหว่างเล่น ควรให้เด็กพัก แวะดื่มน้ำสะอาดเป็นระยะ ย้ำแก่เด็กไม่ให้ดื่มน้ำที่ใช้เล่น
6. หลังจากเล่นน้ำเสร็จ ควรให้เด็กอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าที่แห้งและอบอุ่น
เทศกาลสงกรานต์ไม่ได้มีแต่กิจกรรมสาดน้ำเพียงอย่างเดียว ควรปลูกฝังให้เด็กทราบขนบธรรมเนียมประเพณีอื่นๆ ที่ควรทำในวันสงกรานต์ เช่น เข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญูและเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่