xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและหัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและหัดให้ชาวระยอง
ระยอง - กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ และหัดให้ชาวระยอง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 60 พรรษา

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงแรมสตาร์ ระยอง ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง นายแพทย์โสภณ เฆมธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและหัด ให้ชาวระยอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดระยอง โดยมี นายภิญโญ ประกอบผล รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายชุมพล สุวรรณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จ.ชลบุรี และนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง ร่วมในพิธี

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ปี 2558 กระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการให้วัคซีนโรคตีบและหัดในกลุ่มผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20-50 ปีฟรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ มีเป้าหมายฉีด 28 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากปี 2555 มีการระบาดของโรคคอตีบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง มีแนวโน้มขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่า ผู้ใหญ่ และเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนมีระดับภูมิคุ้มต้านทานโรคคอตีบต่ำที่สุด โดยในกลุ่มผู้ใหญ่พบว่ามีอายุระหว่าง 20-50 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เกิดก่อน พ.ศ.2520 และเป็นปีที่ไทยเริ่มใช้แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กในระดับชาติ จึงยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้ และมีความเสี่ยงติดเชื้อ และป่วยเป็นโรคคอตีบได้สูง โครงการนี้จะเป็นการป้องกันควบคุมโรคคอตีบในระยะยาวของประเทศ โดยจังหวัดระยอง มีประชาชนอายุระหว่าง 20-50 ปี อยู่ในเป้าหมายฉีดวัคซีน 299,644 ราย

สำหรับโรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเฉียบพลัน อาการป่วย คือ มีไข้ พิษของเชื้อจะทำลายกล้าเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ลำคออักเสบ และมีแผ่นเยื่อในลำคอ ในรายรุนแรงจะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน อาจเสียชีวิตได้ ขณะที่สถานการณ์โรคคอตีบในไทยลดลงมาก โดยในปี 2520 พบผู้ป่วยปีละกว่า 2,300 ราย ขณะที่ปี 2557 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 18 ราย เสียชีวิต 4 ราย
หลายหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวนมาก
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงโรคคอตีบและหัดดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น