เพชรบุรี - กระทรวงสาธารณสุข เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีคุ้มกันโรคคอตีบที่เพชรบุรี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (2 ก.พ.) ที่หอประชุมวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ดร.ไกร บุญบันดาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการรณรงค์ให้วัคซีนคอตีบ และบาดทะยักแก่ประชาชนในกลุ่มอายุ 20-50 ปี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558
โดยมีเป้าหมายฉีดให้ผู้ที่เกิดในเดือนมกราคม 2508-ธันวาคม 2538 ซึ่งมีทั้งหมด จำนวน 28 ล้านคนทั้งประเทศ เพื่อเร่งรัดการรักษาครอบคลุมวัคซีนในประชาชนคนไทยให้สูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคคอตีบ ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นพ.ประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ดร.นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 ราชบุรี และหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก
นพ.ประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจาก กระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนในประเทศไทย พบว่า ช่วง 10 ปีมานี้ เริ่มพบผู้ป่วยในโรคคอตีบในช่วงภาคใต้ของประเทศไทย เนื่องมาจากการขาดวัคซีน โดยสถานการณ์ไม่สงบ และในปี 2555 พบว่า ในภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน พบผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคคอตีบ และเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อจากผู้ใช้แรงงานที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
โดยจากการสำรวจพบว่า มีผู้ใหญ่อยู่ช่วงหนึ่งที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะรัฐบาลได้ให้วัคซีนมาไม่พอ 20 ปีนี้ คนที่อายุก่อนหน้านี้ก็จะไม่ได้รับวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดให้มีการฉัดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ในส่วนของจังหวัดเพชรบุรี มีเป้าหมายประมาณ 100,000 คน ที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน
สำหรับผู้ที่ยกเว้นไม่ต้องฉีด คือ ผู้ที่ตั้งท้อง เพราะว่าขณะตั้งท้องจะได้รับการฉีดยาป้องกันอยู่แล้ว แต่หากผู้ที่จะมาฉีดวัคซีนดังกล่าว ป่วย หรือไม่สบายก็ไม่สามารถฉีดได้ ต้องรักษาตัวให้หายก่อน สำหรับการฉีดวัคซีนนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เป็นบริการของกระทรวงสาธารณสุขที่จัดให้แก่ประชาชน
โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อคอตีบจะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก ในลำคอ และทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่าย และระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอ จามใส่กัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด