คนรุ่นก่อนอวยพรกัน ให้มีอายุยืนถึงหมื่นปี แต่แค่เจอใครอายุถึง 100 ปี ก็รู้สึกทึ่งแล้ว
ผิดกับคนสมัยนี้ อายุถึง 100 ปีมีมากขึ้น แต่พอใครได้รับคำอวยพรให้อายุยืนถึง 100 ปี กลับไม่ค่อยอยากได้ ไม่อยากอยู่อย่างคนแก่ คนป่วย คนช่วยตัวเองไม่ได้
ความคิดแบบนี้แสดงว่า ไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นคนแก่อย่างมีคุณภาพ
วิทยาการความก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ไปไกลและไปเร็ว จนถึงกับเกิดศาสตร์ว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ ความรู้ที่พัฒนาขึ้นทำให้มีแนวโน้มที่คนจะอายุยืนขึ้น จนถึง 100 ปี คงจะไม่ใช่เรื่องยาก และอาจถึง 142 ปี ก็ทำท่าว่าจะเป็นไปได้แล้ว!
แต่ก้าวสำคัญ คือ จะเป็นคนอายุ 100 ปี หรือเกินร้อย อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร
แล้วคุณล่ะ.. เตรียมตัวที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพไปจนถึงอายุ 100 ปีหรือยัง?
• อายุยืนจริงหรือ
ในช่วงหลายทศวรรษนี้ เทคโนโลยีด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้อายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกยืนยาวขึ้น นิตยสารไทม์ ฉบับที่ 185 เดือนกุมภาพันธ์ 2015 ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญในแต่ละรอบ 30 ปี ว่ามีผลทำให้คนอายุยืนขึ้นอย่างไรบ้าง
เริ่มจากปี พ.ศ. 2468 การรณรงค์เรื่องสุขอนามัย เช่น น้ำดื่มสะอาด ประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวอเมริกันมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 59 ปี อีก 30 ปีต่อมา เมื่อมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคหัด โรคโปลิโอ อายุขัยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นเป็น 70 ปี หลังจากนั้นอีก 30 ปี การใส่ใจเรื่องสุขภาพของหัวใจ การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ทำให้อายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี และ 30 ปีให้หลัง คือในปี พ.ศ. 2558 นี้ การพัฒนายา การตรวจ การผ่าตัด และเทคโนโลยีด้านการแพทย์อื่นๆ ช่วยให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคมะเร็ง รอดชีวิตมากขึ้น อายุเฉลี่ยจึงเพิ่มขึ้นเป็น 79 ปี
ส่วนในอนาคตอีกรอบ 30 ปีข้างหน้า ถ้าสามารถพัฒนายาที่ช่วยชะลอความชรา สามารถพลิกฟื้นความเสื่อมถอยของเซลล์ อายุอาจจะยืนยาวได้ถึง 81 ปี
กลับมาดูที่ประเทศไทย สถิติล่าสุดระหว่าง ปี พ.ศ. 2546-2556 คนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 ปี คือ เพศชายมีอายุเฉลี่ย 71.1 ปี เพศหญิงมีอายุเฉลี่ย 78.1 ปี คนวัยเกษียณหรืออายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากถึง 9.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าก้าวสู่สังคมสูงอายุแล้ว ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดให้ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society)
แน่นอนว่าในอนาคต แนวโน้มคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่านี้อีก และคนอายุเกิน 100 ปีก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2555 มีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง 17,883 คน
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เป็นทั้งเรื่องน่ายินดีและน่ากังวลไปพร้อมกัน กับประเด็นที่ว่า..แล้วจะอยู่อย่างไร
• วัยเปลี่ยน ร่างกายเปลี่ยน
ก่อนที่จะนั่งลุ้นว่าอายุของเราจะยืนยาวได้ถึง 100 ปีไหม มาดูกันก่อนว่าร่างกายเราทำงานไหวหรือเปล่า
มีผลการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของคนเรา ที่มักเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัดเมื่อถึงวัยหนึ่งๆ
ดร.โรแนน แฟคโทรา แพทย์ประจำคลีฟแลนด์คลินิก สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สำหรับคนชราโดยเฉพาะ สรุปการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นผลจากความชราว่า
อายุ 18 ปี ผิวเหี่ยว คอลลาเจนและความยืดหยุ่นของผิวเริ่มลดลงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรสูบบุหรี่ กินอาหารให้ครบทุกหมู่ ทาครีมกันแดดทุกวันแม้ไม่ได้ออกแดด
อายุ 30 ปี ประสิทธิภาพปอดลดลงปีละ 1 % โดยเฉพาะคนที่ชอบนั่งๆนอนๆ
อายุ 35 ปี มวลกระดูกเริ่มลดในอัตรา 1 % ทุกปี และลดฮวบในวัยหมดประจำเดือน
อายุ 40 ปี เรี่ยวแรงหาย กล้ามเนื้อหด ปวดเมื่อยตัวบ่อย ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากนี้ สายตาก็เริ่มแย่ลง ควรเลิกสูบบุหรี่ และสวมแว่นกันแดด เพราะทั้งควันบุหรี่และแสงแดดจะค่อยๆกระตุ้นให้เป็นต้อ
อายุ 50 ปี ไตเริ่มลดประสิทธิภาพ วิธีที่ดีที่สุดคือ ดื่มน้ำให้มากพอ
อายุ 60 ปี ย่อยยาก ท้องอืดท้องเฟ้อ ถ่ายไม่ออก การดูดซึมสารอาหารลดลง การได้ยินเสียงก็เริ่มไม่ดีแล้ว และค่อยๆแย่ลง แต่บางคนจะเริ่มเป็นตอนอายุ 65 ปี
อายุ 65 ปี หัวใจอ่อนแอ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเริ่มลดจำนวนลง แต่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงทำให้ผนังหัวใจหนาขึ้น เส้นเลือดหัวใจเปราะบางมากขึ้นด้วย ในวัยหนุ่มสาว อายุ 20-30 ปี จึงควรออกกำลังประเภทแอโรบิกเอาไว้ให้มาก เพราะจากนั้นประสิทธิภาพของหัวใจจะลดลง 10 % ทุก 10 ปี และโรคหัวใจมักจะเริ่มมาตอนอายุ 65 ปี
อายุ 70 ปี ปกติสมองค่อยๆ ทำงานแย่ลง แต่พออายุ 70 จะเริ่มเห็นชัดแล้วว่าแย่ลงอย่างรวดเร็ว ควรทำกิจกรรมหลากหลายที่กระตุ้นสมองได้คิดได้ทำงานสั่งการ
• ยาอายุวัฒนะ มีจริงหรือ?
อันที่จริงการเจริญเติบโตของร่างกายเริ่มคงที่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวแล้ว พร้อมกับประสิทธิภาพการทำงานที่เริ่มนับถอยหลัง นักวิจัยจึงพยายามศึกษากลไกการทำงานของร่างกาย เพื่อดูว่ามีวัฏจักรการเกิด เสื่อม และสลายอย่างไร แล้วพยายามคิดค้นยาที่จะเข้าไปแก้ไขการเสื่อมสลายนั้น
ทีมนักวิจัยนำโดย อลิซาเบท แบล็คเบิร์น ศาสตราจารย์ด้านชีวโมเลกุล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก พบว่า ทุกๆครั้งที่เซลล์ร่างกายแบ่งตัว โครโมโซมของเซลล์นั้นจะหดสั้นลงเรื่อยๆ โดยส่วน "หาง" ตรงปลายสายดีเอ็นเอ หรือที่เรียกว่า “ทีโลเมียร์” (Telomere) จะหดสั้นลงๆ จนถึงจุดหนึ่ง เซลล์จะไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป และตายในที่สุด
เอนไซม์ที่ใช้สร้างทีโลเมียร์ เรียกว่า ทีโลเมอเรส (Tolemerase) ในเซลล์บางชนิด เช่น สเต็มเซลล์ จะมีทีโลเมอเรสคอยสร้างทีโลเมียร์ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เซลล์แบ่งตัวได้หลายครั้ง นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า ทีโลเมอเรสน่าจะเป็นความหวังในการหยุดยั้งหรือชะลอความชราในระดับเซลล์ การค้นพบครั้งนี้ทำให้ทีมวิจัยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ปี 2009
ที่สำคัญ ยังพบด้วยว่า ทีโลเมอเรสไม่ได้ลดลงในผู้สูงวัยเท่านั้น เด็กในครรภ์ก็พบว่าลดลงได้ถ้าแม่มีความเครียด ฉะนั้น กุญแจดอกหนึ่งของการแก่ช้า คือ การทำให้ทีโลเมียร์แข็งแรงตั้งแต่อยู่ในท้องนั่นเอง
นักวิจัยเชื่อว่า การออกกำลังและมีสุขนิสัยที่ดีในการบริโภคและการใช้ชีวิต จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงตั้งแต่ระดับโครโมโซม ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เพิ่มเอนไซม์ทีโลเมอเรสนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะถ้าทีโลเมียร์แข็งแรงเกินไปด้วยเอนไซม์ทีโลเมอเรสที่เสริมเข้าไปอยู่เสมอ ทีโลเมียร์ไม่สลาย เซลล์ก็ไม่ตาย และมีแนวโน้มว่าทำให้เกิดมะเร็งได้ ถึงแม้จะพบว่า มะเร็งบางชนิดก็เกี่ยวข้องกับการที่ทีโลเมอเรสลดลงด้วย
ฉะนั้น ณ เวลานี้ แบล็คเบิร์นบอกว่า “เราไม่รู้ว่าจะควบคุมให้สมดุลได้อย่างไร ตามความรู้สึกของฉัน ถ้ากินอะไรเข้าไปแล้วเพิ่มทีโลเมอเรส ก็เหมือนกับเรากำลังเล่นกับไฟ”
• ยาปฏิชีวนะ ตัวเลือกใหม่ในการยืดอายุถึง 142 ปี
นักวิจัยจำนวนมากยังพยายามค้นหาสูตรสำเร็จที่เป็นทางลัดของการมีชีวิตยืนยาวต่อไป ล่าสุดมีการนำเสนองานวิจัยยาปฏิชีวนะ “ราพามัยซิน” (Rapamycin) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ซึ่งทดลองกับหนู แล้วพบว่าสามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยของหนู ทำให้มีสภาพร่างกายเหมือนหนูอายุน้อยทั้งๆที่มีอายุถึง 3 ปี และตายตอนอายุ 4 ปี จากอายุเฉลี่ยปกติ 2 ปี 3 เดือน นั่นคือ หนูมีอายุมากขึ้น 1.77 เท่า เมื่อนำมาคำนวณกับค่าเฉลี่ยอายุคนอเมริกัน 80 ปี ก็จะทำให้ได้ค่าเฉลี่ยอายุใหม่เป็น 142 ปี หากยาได้ผลเหมือนในการทดลองกับหนู
ยาราพามัยซินมีฤทธิ์ชะลอความแก่ และลดความเสียหายในระดับเซลล์ ทำให้ระบบตับ หัวใจ และความยืดหยุ่นของร่างกายดีเหมือนวัยหนุ่มสาว วิธีการคือ ยาจะไปขัดขวางเอนไซม์ที่ชื่อ mTOR ซึ่งกระตุ้นการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์
อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการทดลองและตรวจสอบฤทธิ์ของยาเพิ่มเติมอีก เพราะแม้จะให้ผลออกมาว่าสามารถยืดอายุขัย แต่ยังไม่รู้กลไกการทำงานมากพอจะนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยและสัมฤทธิ์ผลที่สุด
ปัญหาหนึ่งคือผลข้างเคียงของยาที่รุนแรงไม่น้อย เพราะปกติมีการใช้ยานี้อยู่แล้วในคนไข้ปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อไม่ให้ปฏิเสธเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายเข้าไป หรือใช้รักษามะเร็ง รวมทั้งทดลองใช้รักษาโรคที่มักเกิดกับคนวัยชรา อย่างอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน แต่เมื่อพบว่ายานี้สามารถยืดอายุได้ด้วย จึงเป็นที่ฮือฮาและต้องจับตาดูความคืบหน้าต่อไป
• อาหารเพิ่มความชรา
เมื่อเซลล์เสื่อมสภาพ มักจะเกิดการอักเสบตามมา เหมือนเช่นที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดการระคายเคือง ซึ่งเป็นการอักเสบที่เราเห็นได้ชัดยามเราไม่สบาย เช่น คออักเสบ มีอาการแสบคอ ไข้ขึ้น หรือสิวอักเสบ มีอาการ ปวด บวม เจ็บ แต่การอักเสบในระดับเซลล์ต้องใช้วิธีการตรวจวัดระดับสารในเลือดบางตัว จึงจะบอกได้ว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย
นายแพทย์นิโคลัส เปอร์ริโคน แพทย์ผิวหนังและผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอความชรา เชื่อว่าอาหารบางชนิดทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายระหว่างเผาผลาญ คือ จะเกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก และกระตุ้นปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกาย อาหารเหล่านี้ได้แก่ แป้ง น้ำตาล อาหารทอด นม และผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ เป็นต้น
ฉะนั้น คนที่ชอบของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกใจกับเค้ก พาสต้า ไส้กรอกทอดหรือของทอดทุกชนิด รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่างๆ ก็ควรจะลด ละ เลิก เปลี่ยนเป็นกินน้ำเปล่า เน้นผักผลไม้ และอาหารไม่แปรรูปดีกว่า
• ยิ่งเครียด ยิ่งแก่ ยิ่งตายเร็ว
เรื่องนี้จริง ยืนยันได้ในทางวิทยาศาสตร์ เวลาที่เราวิตกกังวล ระบบประสาทจะตีความว่ากำลังเผชิญศัตรูหรือมีการคุกคามชีวิต สมองจึงสั่งให้ต่อมอดรีนาลีนหลั่งฮอร์โมน ซึ่งส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยโปรตีนที่เรียกว่า “ไซโตไคน์” เพื่อให้เม็ดเลือดขาวจัดการผู้รุกราน เช่นเดียวกับเวลาเกิดการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ
ถ้าเผชิญภาวะอย่างนี้บ่อยๆ โดยไม่มีการบาดเจ็บจริง ก็จะมีสารจัดการการอักเสบนี้เต็มร่างกายไปหมด ทำให้เกิดโรคภัยตามมาอย่างเช่นมะเร็ง การเสื่อมของเซลล์สมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคข้อ รูมาตอยด์ อัลไซเมอร์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ร้ายที่คอยคุกคามผู้สูงวัย
วิธีการป้องกันที่ดีเยี่ยมคือ ดูแลสภาพจิตใจของตนเอง โดยการทำสมาธิและบริหารจิต การปรับทัศนคติ และการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม นักวิจัยพบข้อเท็จจริงเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการทำสมาTb ที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิด และสิ่งเร้า หรือที่เรียกว่า “กิเลส” เพราะจะช่วยให้จิตใจสงบ และระงับอาการผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันไปพร้อมกันกับการระงับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง
ในปี 2556 ริชาร์ด เดวิดสัน นักประสาทวิทยาผู้ก่อตั้งศูนย์ทดสอบสุขภาพจิตที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ศึกษาพลังของการทำสมาธิต่อร่างกาย โดยเปรียบเทียบผู้รับการทดสอบ 40 ราย ให้ 21 ราย ทำสมาธิตามคำแนะนำ 8 ชั่วโมง ทั้งเดินจงกรม และฟังบรรยาย ส่วนอีก 19 คน ทำกิจกรรมผ่อนคลายในเวลาเท่ากับกลุ่มแรก แต่ไม่มีการทำสมาธิ ผลออกมาว่า คนที่ทำสมาธิมีการอักเสบน้อยกว่า
บางรายงานยังแสดงให้เห็นว่า การทำสมาธิลดการลดลงของเนื้อสมองสีเทา ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผล ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ความจำ ทักษะการพูด เป็นต้น การลดลงนี้โดยปกติสัมพันธ์กับวัย คือเริ่มลดตั้งแต่อายุ 20 ปีแล้ว การทำสมาธิบ่อยๆ จึงช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ดี
• แก่เท่าที่คิด จำได้เท่าที่อยากจำ การบริหารสมองช่วยได้
มีคนจำนวนมากมองชีวิตสูงวัยเหมือนเครื่องจักรหมดสภาพ ไม่มีอะไรดีเลย ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นขนาดนั้น มีงานวิจัยหนึ่ง ให้กลุ่มคนสูงวัยอยู่ด้วยกันในสภาพแวดล้อมที่จัดใหม่ เหมือนยุคสมัยที่ตัวเองคุ้นเคย นาน 5 วัน โดยไม่มีกระจกส่องและไม่มีใครอื่นช่วยดูแล คุยกันแต่เรื่องสมัยของตน เสร็จแล้วให้ทำแบบทดสอบความถนัดทางปัญญา (Cognitive Aptitude Test) ผลออกมาดังคาด คือ ดีขึ้นทุกด้าน บางคนได้คะแนนเท่ากับคนที่อายุน้อยกว่า 10-20 ปี
ถึงสมองจะทำงานได้ไม่ดีเท่าเด็กและคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บรักษาความจำ แต่ถ้าลองปรับทัศนคติ บอกตัวเองว่า “สมองฉันทำงานได้ดี” ทุกเรื่องเป็นการเรียนรู้ ก็จะลดความกดดันให้ตัวเอง
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่อายุ 60-75 ปี ถ้าบอกให้ “รับรู้” จะทำได้ดีกว่าบอกให้ “จดจำ” ที่น่าทึ่งคือ อาจจะทำได้ดีพอๆกับพวกอายุ 17-24 ปีด้วยซ้ำ สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า หมดความกังวลว่าต้องจดจำชื่อและข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้สมองจดจำ
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาเปรียบเทียบความจำระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้สูงวัย โดยให้มารับการฝึกฝนเรื่องวิธีช่วยจำด้วยกัน ก่อนการฝึก มีการทดสอบทุกคน ซึ่งแน่นอนคนหนุ่มสาวทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว แต่เมื่อผ่านการฝึกอบรม ผู้สูงวัยทำคะแนนได้ดีเท่ากับคนหนุ่มสาวตอนก่อนรับการฝึก แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้และการจำของผู้สูงวัยยังพัฒนาอยู่ไม่ผิดกับคนวัยหนุ่มสาว
สถาบัน The National Institute on Aging ของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้บริหารสมองสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เพราะจากการทดลองเป็นเวลา 5 สัปดาห์ติดต่อกัน พบคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมีความจำและสมาธิดีขึ้น มีทักษะในการแก้ปัญหาดีขึ้น การเล่นเกมลับสมอง เช่น เล่นไพ่ เล่นหมากรุก เกมจับคู่ หรือทายปริศนาต่างๆ จะช่วยให้กระตุ้นสมองคิดได้ฉับไว ควรจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทำอะไรแปลกใหม่บ้าง สมองจะได้ตื่นตัวที่จะเรียนรู้
ถ้าเราได้ดูแลตัวเองให้มีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจมั่นคงแจ่มใส ชีวิตในวัย 100 ปีก็จะดำเนินไปอย่างมีคุณภาพได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย วิรีย์พร)