xs
xsm
sm
md
lg

“ลมแดด” คร่าชีวิตช่วงฤดูร้อน 10 ปีกว่า 196 คน คนแก่-ซดเหล้าตายสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยปี 56 คนตายจากฮีตสโตรก หรือ โรคลมแดด มากถึง 20 ราย สถิติย้อนหลัง 10 ปี ตายสูงถึง 196 ราย พบคนแก่ ดื่มเหล้า อัตราตายสูงสุด เหตุแอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น แนะดื่มน้ำมากๆ ป้องกัน

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนบางกลุ่มอาจเจ็บป่วยจากโรคฮีตสโตรก (Heat stroke) หรือ โรคลมแดด ได้ เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ มีประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว 4. คนอ้วน 5. ผู้ที่อดนอน และ 6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอนจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อน ร่างกายจะสามารถเก็บความร้อนได้ดี และระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงเกิดปัญหาได้ง่าย ส่วนผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์นั้น ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และสภาพอากาศที่ร้อนจัดแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้ กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งให้คำแนะนำความรู้ในการดูแลและป้องกันโรคลมแดด” รมว.สธ. กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สภาพอากาศร้อนจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ คือ 1. ทำให้ผิวหนังไหม้ 2. ตะคริว เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก 3. อาการเพลียแดด (Heat exhaustion) เนื่องจากสูญเสียเหงื่อมาก เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง จะมีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ตาลาย และ 4. ฮีตสโตรก ทั้งนี้ ช่วงปี 2546 - 2556 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากฮีตสโตรก 196 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุมากที่สุดพบร้อยละ 16 รองลงมาคือ ผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้ที่มีโรคประจำตัว และ ดื่มสุรา โดยเฉพาะปี 2556 มีผู้เสียชีวิตใน มี.ค.- เม.ย. จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอายุมากกว่า 60 ปี โดยเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือที่ทำงานและในรถยนต์

“การช่วยเหลือผู้ป่วยฮีตสโตรกให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือใช้น้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การป้องกันอันตรายจากโรคฮีตสโตรกแนะนำให้ประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หากเป็นไปได้ควรอยู่ภายในบ้าน เช่น ใต้ถุนบ้าน หรือ อยู่ใต้ร่มไม้ ลดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติจากวันละ 1 - 2 ลิตร เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1 ลิตร เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ ชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก น้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ ปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด สำคัญคืออย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยง ไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถ จะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และให้ทำค่อยเป็นค่อยไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น