xs
xsm
sm
md
lg

เตือนฤดูร้อนระวัง 5 โรค สั่งเฝ้าระวังเข้มทุกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เตือนฤดูร้อนระวัง 5 โรค สั่งเฝ้าระวังทุกพื้นที่ พ่วงโรคพิษสุนัขบ้า ลมแดด และเด็กจมน้ำ เหตุพบผู้เสียชีวิตบ่อยทุกปี

วันนี้ (17 มี.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย จึงต้องระมัดระวังโรคระบาด 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้ไทฟอยด์ นอกจากนี้ ยังมีโรคพิษสุนัขบ้า โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2558 มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรคแล้ว รวม 197,504 ราย เสียชีวิต 2 ราย ที่พบมากอันดับ 1 คือ โรคอุจจาระร่วง 175,270 ราย เสียชีวิต 2 ราย ดังนั้น กรมฯ ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคจากภัยสุขภาพ ส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด สำนักอนามัย กทม. และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง โดยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ ควบคุมโรคกรณีระบาด และสื่อสารความเสี่ยงประชาสัมพันธ์ เน้นกลุ่มเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง

นพ.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันตนเอง ขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ส่วนโรคที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคพิษสุนัขบ้า โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำ โดยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย มีผู้เสียชีวิตทุกปี พาหะหลักคือสุนัข และแมว ติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล โรคนี้ไม่มียารักษา แต่ป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง ส่วนโรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกิน ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยไม่เตรียมร่างกายให้พร้อมต่อสภาพอากาศร้อน นักกีฬาสมัครเล่น ผู้ที่ทำงานในอากาศร้อนชื้น รวมถึงผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มสุราจัด และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ส่วนวิธีป้องกัน ควรดื่มน้ำ 1 - 2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้ทำงานในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ควรให้การดูแลเด็ก และผู้สูงอายุเป็นพิเศษ” อธิบดี คร. กล่าวและว่า เรื่องการป้องกันเด็กจมน้ำ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะตรงกับช่วงปิดเทอม โดยพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มาตรการที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ“ตะโกน โยน ยื่น”

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น