xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.แก้ไข พ.ร.บ.อาหารกลางวันตัดคำว่า “อาหารกลางวัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศธ. แก้ไข พ.ร.บ.อาหารกลางวัน ตัดคำว่า “อาหารกลางวัน” เพื่อให้ดูแลเด็กได้ครอบคลุม เนื่องจากบางคนต้องได้รับการดูแลครบ 3 มื้อ และขยายการดูแลเด็กให้ครบการศึกษาภาคบังคับที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ ม.3 แต่ใน พ.ร.บ. ยังกำหนดไว้ที่ ป.6 เท่านั้น

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ปี 2557 โดยกรมบัญชีกลาง พบว่า ประสิทธิภาพการดำเนินโครงการสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยในส่วนของโครงการทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิต เพื่อโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสร้างผลผลิตมาสนับสนุนอาหารกลางวันนั้น โรงเรียนสามารถผลิต ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารกลางได้อย่างพอเพียง และสามารถช่วยเหลือนักเรียนในภาวะทุพโภชนาการได้ ขณะที่นักเรียนก็ได้ฝึกทักษะอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ให้โรงเรียนและนักเรียนได้ด้วย ส่วนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาที่ได้รับงบต่อหัวนักเรียนวันละ 20 บาท นั้น โรงเรียนส่วนใหญ่ก็สามารถจัดอาหารได้ครบ 5 หมู่

“กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันฯ เป็นกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และดูแลสภาพแวดล้อมโภชนาการให้แก่นักเรียน ซึ่งมีหลายกิจกรรมที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนทำ เพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างรอบด้านเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งเท่าที่สำรวจข้อมูลพบว่าปัจจุบันภาวะทุพโภชนาการในเด็กลดลงมากแล้ว แต่ยังไม่หมดสิ้นไป ดังนั้น จะต้องมีการสำรวจว่า ยังมีโรงเรียนในพื้นที่ไหนที่ยังมีเด็กมีภาวะทุพโภชนาการอยู่อีก เพื่อให้จัดโครงการให้เข้าไปถึง” ปลัด ศธ. กล่าว

นางสุทธศรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ศธ. กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจจะตัดคำว่าอาหารกลางวันออก เพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างครอบคลุม เพราะเด็กบางกลุ่มอาจต้องดูแลถึง 3 มื้อ รวมถึงให้ดูถึงหน่วยงานที่ดูแลด้านการบริหารจัดการด้วย เพราะโครงการนี้ไม่ได้ดูแลเฉพาะนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น แต่ต้องดูแลระดับประถมศึกษาเด็กสังกัดอื่นด้วย รวมถึงต้องมีการขยายการดูแลเด็กให้ครอบคลุมการศึกษาภาคบังคับ เพราะขณะนี้การศึกษาภาคบังคับขยายถึง ม.3 แล้ว แต่ตอนใน พ.ร.บ. ฉบับเดิมนั้นการศึกษาภาคบังคับกำหนดไว้แค่ระดับชั้น ป.6
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น