xs
xsm
sm
md
lg

ถามสิทธิ “ป่วยฉุกเฉิน” หลังพ้นวิกฤต ลดค่าใช้จ่ายชง สธ.เปิดเคลียริงระบบใหม่ หนุนรักษาฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หมอฉุกเฉินเผย “ผู้ป่วย - ญาติ” เรียกรถฉุกเฉินเพื่อความพอใจ แจ้งอาการรุนแรงเกินจริง หวังได้รถกู้ชีพขั้นสูงดูแล วอนแจ้งอาการตามจริง ห่วงรถไม่พอดูแลคนป่วยหนักจริง ยัน รพ. รัฐ รักษาไม่ถามสิทธิ จนกว่าจะพ้นวิกฤต ย้ำถามเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วย เสนอ สธ. ทำโครงการเคลียริงค่ารักษาหลังพ้นวิกฤตทุกกองทุน หนุนป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี

นพ.รัฐพงษ์ บุรีวงษ์ กลุ่มงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวในหัวข้อ “รวดเร็ว ปลอดภัย ใน ER คุณภาพ (Emergency Care System)” ในงานประชุมวิชาการครั้งที่ 16 จินตนาการสร้างสรรค์คุณภาพ จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ทุกอำเภอทั่วประเทศมีทีมฉุกเฉินประจำ โดยจัดวางเป็นรูปพีระมิด คือ ทีมกู้ชีพขั้นสูง ประกอบด้วยบุคลากรวิชาชีพ 3 คน ใช้รถกู้ชีพที่เสมือนยกห้องฉุกเฉินมาไว้ในรถ มีอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งขณะนี้มี 1 คันต่อ 1 อำเภอเพื่อคอยบริการตลอด 24 ชั่วโมง ถัดมาจะเป็นทีมกู้ชีพขั้นกลาง ขั้นพื้นฐาน และขั้นต้น ลดหลั่นกันลงมา โดยจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบุคลากรผลิตง่ายกว่าสายวิชาชีพ อุปกรณ์หาง่ายและน้อยกว่า จึงเหมาะที่จะกระจายไปยังเทศบาลและมูลนิธิ หรือแม้แต่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ทั้งนี้ ทีมกู้ชีพแต่ละขั้นจะมีข้อจำกัดด้านความรู้และกฎหมายต่างกันไป ยกตัวอย่าง ทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งอบรม 110 ชั่วโมง จะไม่สามารถวินิจฉัยพิจารณาอาการป่วยที่รุนแรงเกินกว่าความรู้ที่มีได้ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ญาติต้องตั้งสติให้มั่นแล้วแจ้งรายละเอียดของอาการผู้ป่วยให้ชัดเจน เพื่อให้โรงพยาบาลพิจารณาปล่อยรถกู้ชีพไปช่วยเหลือได้ถูกต้อง

“นอกจากปัญหาความตกใจจนยากที่จะบอกอาการของผู้ป่วยได้ครบถ้วนนั้น อีกปัญหาหนึ่งคือประชาชนมักใช้รถกู้ชีพฉุกเฉินเหล่านี้ในเชิงความพึงพอใจ คือต้องการมาโรงพยาบาลด้วยการมีรถมารับ ยิ่งเป็นรถกู้ชีพชั้นสูงที่มีอุปกรณ์ครบครันมาดูแลก็ยิ่งดี ซึ่งจากการทำงานพบว่า มีญาติคนไข้มักชอบแต่งอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินให้รุนแรงกว่าความเป็นจริง เพื่อต้องการรับบริการด้วยรถกู้ชีพขั้นสูง ตรงนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะหากโรงพยาบาลปล่อยรถกู้ชีพขั้นสูงไป เท่ากับพื้นที่บริการหลังบ้านโล่ง หากมีคนไข้ถัดไปที่อาการหนักกว่าจะทำเช่นไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่หน่วยบริการและประชาชนต้องช่วยกัน” นพ.รัฐพงษ์ กล่าว

นพ.รัฐพงษ์ กล่าวว่า สำหรับสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีที่มีการร้องเรียนว่า โรงพยาบาลถามสิทธิก่อนรักษา หรือเรียกเก็บเงินนั้น เชื่อว่า โรงพยาบาลรัฐไม่มีการทำเช่นนี้ เพราะเรามีหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อให้เขาพ้นภาวะฉุกเฉินไปให้ได้ หากจะถามก็ต้องเป็นการถามหลังจากพ้นภาวะฉุกเฉินไปแล้ว เป็นช่วงที่ผ่อนคลายจากการรักษา โดยอาจมีการเรียกญาติคนไข้มาสอบถามหรือหากผู้ป่วยสามารถตอบคำถามได้ก็จะถามผู้ป่วย เพื่อไม่ให้สุดท้ายกลายเป็นภาระของผู้ป่วยเอง เพราะหากรักษาไปจนหายดี แต่กลับพบว่าผู้ป่วยไม่ได้มีสิทธิ ค่ารักษาในส่วนที่พ้นจากภาวะวิกฤตไปแล้วก็จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติเอง แพทย์จึงต้องมีหน้าที่ช่วยคนไข้ในเรื่องนี้ด้วยคือไม่เพิ่มภาระให้คนไข้

“ผมเห็นด้วยว่าการถามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินในวินาทีแรกเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เราต้องช่วยให้เขาพ้นวิกฤตไปให้ได้ก่อน ซึ่งหลังจากพ้นวิกฤตได้แล้วค่อยมาคุยกันอีกทีว่าผู้ป่วยมีสิทธิอะไร อยู่ที่โรงพยาบาลใด และอยากจะรักษาตัวที่นี่ต่อหรือส่งตัวไปรักษาตามที่มีสิทธิ เพราะค่าใช้จ่ายในส่วนของเจ็บป่วยฉุกเฉินก็มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จ่ายและเป็นเคลียริงเฮาส์อยู่แล้ว แต่การรักษาหลังพ้นภาวะฉุกเฉินไปแล้ว หากไปยังโรงพยาบาลที่มีสิทธิก็ไม่มีปัญหา แต่หากผู้ป่วยยังรักษาต่ออยู่ที่โรงพยาบาลเดิมก็จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แม้แต่ละกองทุนจะมีระบบการตามจ่าย แต่ช่วงนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังมีการปรับเรื่องโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็ควรที่จะต้องทำโครงการเคลียริงหรือตามจ่ายหลังพ้นภาวะวิกฤตขึ้นมาสนับสนุนให้ชัดเจน” นพ.รัฐพงษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น