xs
xsm
sm
md
lg

ประมงร้อง ก.แรงงาน ตร.ในพื้นที่ยัดข้อหา “แรงงานต่างด้าว” ถูก กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการประมง วอน ก.แรงงาน แก้ปัญหา ตร. พื้นที่ จ.สมุทรสาครจับแรงงานต่างด้าว ยัดข้อหาทั้งที่มีเอกสารครบ เผยแรงงานพม่าขาย - จำนำ พาสปอร์ตสวมสิทธิหลอกเจ้าหน้าที่ บางรายถูกขโมยเรียกค่าไถ่ 4,500 บาท ด้านอธิบดี กกจ. บอกพึ่งทราบเรื่อง จ่อหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหา

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ รร. ดิ เอมเมอรัล กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานชาวพม่ารายหนึ่งในโรงงานอาหารทะเล จ.สมุทรสาคร กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ทิศทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว” ว่า ปัจจุบันแม้แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานในไทย ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และมีเอกสารถูกต้องแล้ว แต่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นและจับกุม หากยอมจ่ายเงินคนละ 500 บาท ก็จะไม่ถูกจับกุม นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติบางส่วนในโรงงานต่างๆ ยังถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ และขอเสนอให้กระทรวงแรงงานกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แรงงานต่างด้าวสามารถขอเปลี่ยนนายจ้างได้กรณีถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม

ด้าน ผู้ประกอบการรายหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจค้นจับกุมโดยจะดักจับหน้าโรงงาน ในที่พัก หรือเข้าจับในไซต์งาน และจะถูกยัดข้อหาต่างๆ แต่หากยอมจ่ายเงินจำนวน 500 บาท ก็จะปล่อยตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่พบบ่อยครั้งใน จ.สมุทรสาคร หากไม่พกบัตรหรือพกแค่สำเนาก็จะถูกจับ แต่ถ้ายอมจ่าย 500 ก็จะปล่อยตัว แรงงานบางคนพกเอกสารไม่ครบ บางคนพกสำเนาไม่พกตัวจริง จึงเปิดช่องทางถูกจับกุมแต่ก็สงสัยว่าทำไมบางคนพกบัตรถูกต้อง ก็ยังโดนจับ ทำให้ตอนนี้กลุ่มแรงงานพม่ามีการซื้อขาย จำนำ และขโมยพาสปอร์ตชาติเดียวกัน เพื่อนำไปสวมสิทธิแสดงตัว เมื่อโดนตรวจค้นโดยราคาจำนำอยู่ที่ 2,000 บาท หากขาย 5,000 - 10,000 บาท และที่ผ่านมา บางรายขโมยไปเรียกค่าไถ่ 4,500 บาท และแรงงานที่ถูกขโมยต้องยอมจ่าย เนื่องจากหากไปแจ้งหายต้องใช้เวลาทำใหม่และเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหม่ที่ตนเพิ่งรับทราบ ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรแก้ไขอย่างไร

ด้าน ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ รอง ผอ.ฝ่ายบริหารสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ควรให้แรงงานข้ามชาติสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ หากถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ต้องไม่ใช้เงื่อนไขนี้กับแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าโดยระบบเอ็มโอยู ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้เปลี่ยนนายจ้างได้มีข้อดีคือทำให้ลูกจ้างต่างด้าวที่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้รับโอกาสเริ่มต้นงานใหม่ ไม่ต้องเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่ข้อเสียจะทำให้การควบคุมแรงงานข้ามชาติทำได้ยากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น