xs
xsm
sm
md
lg

ไอแอลโอแนะไทยสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไอแอลโอแนะไทยสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวที่แท้จริง พร้อมปรับปรุงกระบวนการผลิตลดการนำเข้า ด้านรองอธิบดี กสร. จวกเอ็นจีโอส่งข้อมูลให้ ตปท. ส่งผลถูกมองเอาเปรียบแรงงาน - ค้ามนุษย์ ชี้ควรหารือช่วยกันแก้ปัญหา ขณะที่ อาจารย์ มธ. แนะวางแผนการจัดการในอนาคตเพื่อทันสถานการณ์ เน้นกระบวนการเชิงรุกมากขึ้น

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ รร. ดิ เอมเมอรัล กรมการจัดหางาน (กกจ.) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องทิศทางการบริหารแรงงานต่างด้าว และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยมี นายสุเมธ มโหสถ อธิบดี กกจ. เป็นประธานการสัมมนา นายวรานท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลอ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) นักวิชาการ ตัวแทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว เข้าร่วม

นายแม็กซ์ ทูยอน (Max Tonon) ผู้ประสานงานอาวุโสโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ (ไอแอลโอ) กล่าวว่า ไทยควรมีการประเมินความต้องการแรงงานตามความจำเป็นในการใช้แรงงานที่แท้จริง โดยการสำรวจจากความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ เปรียบเทียบตามประเภทอุตสาหกรรม กำลังในการผลิตสินค้า สถานการณ์เศรษฐกิจและเรื่องของความมั่นคง พร้อมประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงาน จากหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา สถาบันทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าแรงงานเป็นการพิจารณาตามความต้องการของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว และควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว อีกทั้งตามกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าวนั้นระบุกรณีที่แรงงานต่างด้าวไม่พกเอกสารประจำตัวมีโทษปรับสูงถึง 20,000 บาท แต่กลับกันไม่มีการกำหนดบทลงโทษคนที่ยึดเอกสารของแรงงาน

นายวรานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันนายจ้างโดยเฉพาะในภาคประมงสะท้อนเพียงความต้องการแรงงานของตนเองแต่เมื่อถามถึงจำนวนที่ขาดแคลนก็ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีการนำเสนอมาตรการดูแลแรงงานเพื่อไม่ให้หนีไปทำงานที่อื่น ซึ่งการจะรักษาแรงงานต่างด้าวให้คงอยู่ในกิจการประมงนั้นต้องมีการจูงใจทั้งค่าจ้าง สวัสดิการที่ดี และการดูแลตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานเต็มใจจะทำงานในกิจการประมง นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้กลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านแรงงานเมื่อพบข้อมูลหรือปัญหา ให้เข้ามาหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ กสร. เพื่อให้เข้าไปจัดการ ดีกว่าการนำปัญหาแจ้งต่อต่างชาติซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไทย ทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าเอาเปรียบแรงงาน จนถึงกระบวนการค้ามนุษย์แบบเหมารวม ซึ่งตามความจริงอาจมีแค่ไม่กี่ราย และสามารถเข้าไปจัดการได้

ด้าน ดร.ธัญญลักษณ์ จีระสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้มงวดเรื่องของความมั่นคง การจัดการปัญหาในปัจจุบันเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้และอดีต ไม่มีการวางแผนอนาคต รวมทั้งนโยบายปัจจุบันเป็นแบบไม่มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งรัฐควรปรับนโยบายให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น วางแผนการจัดการทั้ง ระยะสั้น กลาง ยาว ทั้งนี้ หากไม่มีการสำรวจความต้องการแรงงานที่แท้จริงก็จะไม่สามารถวางแผนการจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบได้ นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องของการเก็บหัวคิวแรงงาน รัฐก็ควรมีการจัดการด้วย

ด้าน นายสุเมธ กล่าวภายหลังการสัมมนา ว่า นักวิชาการเสนอให้ กกจ. ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่ง กกจ.จะรับข้อเสนอของทุกฝ่ายไปพิจารณา ซึ่งขณะนี้ กกจ. อยู่ระหว่างการแก้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.... หลังจากร่างดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็จะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ส่วนความคืบหน้าในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวนั้น สามารถดำเนินการไปแล้วกว่า 200,000 คน ซึ่งล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่จากประเทศต้นทางทั้งพม่า ลาว กัมพูชา เข้ามาดำเนินการน้อย โดยสัญชาติพม่านั้น แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารแสดงตัวบุคคลเพื่อจัดทำพาสปอร์ต ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกพาสปอร์ตให้ได้ ต้องส่งเอกสารกลับไปยืนยันที่ประเทศต้นทาง ซึ่งทางการพม่าเตรียมจะเปลี่ยนเป็นออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้แรงงานพม่าและเพิ่มเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้ออกเอกสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น