xs
xsm
sm
md
lg

ชง นำเข้าแรงงานประมงผ่านระบบเอ็มโอยู แก้ปัญหาค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน - สมาคมประมง เสนอคณะกรรมการ กนร. แก้ปัญหาค้ามนุษย์ภาคประมงเน้นนำเข้าแรงงานผ่านระบบเอ็มโอยู ระบุยังขาดแคลน 2 แสนคน เผยเตรียมแก้เอ็มโอยูผ่อนผันต่างด้าวกลับประเทศจากเดิม 1 ปี เป็น 30 วัน ไม่ให้กระทบกิจการ เสนอเข้าที่ประชุม 27 ก.พ. นี้

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่กรมการจัดหางาน นายธีรพล ขุนเมือง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมหารือการกำหนดวิธีการขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) โดยมีผู้แทนกรมการจัดหางาน (กกจ.) สมาคมประมงแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงการนำเข้าแรงงานประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) ไทยกับ 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และ กัมพูชา ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการเรือประมงยื่นขอโควตานำเข้าแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแต่ละแห่ง

นายธีรพล กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะประกาศรับสมัครแรงงานไทยก่อน หากมีผู้สนใจน้อยก็จะรวบรวมรายชื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านเอ็มโอยู โดยสมาคมประมงฯ จะคัดเลือกบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนกับ กกจ. เพื่อนำเข้าแรงงาน ซึ่งจะมีการทำสัญญาจ้างเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มีการประชุมชี้แจงรายละเอียดการทำงานและข้อกฎหมายให้แรงงานรับทราบ หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะลงโทษอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการแก้ไขเอ็มโอยูระหว่างไทยกับทั้ง 3ประเทศ จากเดิมที่แรงงานต้องกลับประเทศต้นทาง 1 ปี หลังจากทำงานครบกำหนด 4 ปี เปลี่ยนเป็นให้กลับประเทศต้นทาง 30 วันเพื่อไปดำเนินการด้านเอกสารและไม่ให้กระทบต่อการดำเนินกิจการของนายจ้างแล้วกลับเข้ามาทำงานอีก 4 ปี โดยในปี 2558 จะมีแรงงานที่ต้องกลับประเทศตามเอ็มโอยูจำนวน 55,143 คน ทั้งนี้ จะนำข้อสรุปนี้เสนอต่อที่ประชุม กนร. ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

ด้าน นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานถูกกฎหมายในภาคประมงประมาณ 100,000 คน จากความต้องการที่แท้จริง 300,000 คน ทำให้ขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก สมาคมฯจึงหารือร่วมกับภาครัฐเพื่อขอนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู โดยเบื้องต้นมีการแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าวแล้วกว่า 3,000 คน ซึ่งการขอนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยูก็เพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นว่าไทยโดยเฉพาะภาคประมงไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและไม่มีการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกที่ตกค้างอยู่เร่งนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง
 
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น