กรมศิลป์ - สำนักทรัพย์สินฯ ระบุ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกัลยาฯ เขตพุทธาวาส” อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเพียง 5 รายการ ได้แก่ งานบูรณปฏิสังขรณ์หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง และพระวิหารน้อย ไม่เกี่ยวข้องกับการทุบทำลายโบราณสถาน 22 รายการ ด้านที่ประธานที่ปรึกษาวัดฯ ถอย ชะลอรื้อ เผยรอคำสั่งศาลปกครอง
สืบเนื่องมาจากกรมศิลปากร เข้าแจ้งความดำเนินการกับผู้สั่งการและคนงานซึ่งทำลายโบราณสถานสำคัญภายในวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ทั้งทางอาญาและแพ่งอย่างถึงที่สุดนั้น ล่าสุด วันที่ (20 มี.ค.) ที่กรมศิลปากร นายอดุลย์ บุญลึก หัวหน้าฝ่ายบริหารงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เดินทางมาเข้าพบกับนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร (ศก.) กระทรวงวัฒนธรรม โดย นายบวรเวท กล่าวภายหลังการหารือว่า ขอยืนยันว่า ที่ผ่านมา ศก. ได้ติดต่อแจ้งบอกกล่าวทางวัดกัลยาฯมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักฐานยืนยัน 5 รายการ ดังนี้ 1. เอกสารสำเนาที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 ได้ใช้ถ้อยคำว่า โบราณสถานในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร 2. เอกสารการตั้งคณะกรรมการวางแผนปรับวัด ประกอบด้วย ทั้งกรมศิลปากร และผู้แทนจากวัด เมื่อปี 2546 3. กรมศิลป์ได้แนบแผนผังพร้อมรายชื่อแจ้งว่ามีโบราณสถานอยู่ภายในวัดจำนวน 89 รายการ มีอะไรบ้าง 4. หนังสือนมัสการถึงเจ้าอาวาสว่าอย่ารื้อ สิ่งที่ท่านทำผิดกฎหมายเป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2546 วันที่ 9 พ.ค. 2550 วันที่ 14 พ.ค. 2552 วันที่ 12 ต.ค. 2555 และวันที่ 11 มีนาคม 2556 5. คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายดำที่ 90/2552 คดีหมายแดงที่ 204/2553 (คดีถึงที่สุด) แล้ว
“จากเอกสารดังกล่าวนับว่าชัดเจน ศก. แจ้งว่าเป็นโบราณสถาน และมีอะไรบ้าง ทางวัดจะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ อีกทั้งได้พยายามพูดคุยกับวัดมาโดยตลอด ถึงเวลานี้ได้มีการทุบรื้อทำลายไปแล้วจำนวน 22 รายการ เช่น หอระฆัง ศาลาทรงปั้นหยา หอกลอง หอสวดมนต์ กุฏิคณะ 4 แม้แต่อาคารเก็บกระดูกก็รื้อ ดังนั้น กรมศิลปากรจึงต้องทำตามกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว” นายบวรเวท กล่าว
นายบวรเวท กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีวัดได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตพุทธาวาส” อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผ่านสำนักราชเลขาธิการ จนกระทั่งในวันที่ 2 ธ.ค. 2554 ท่านผู้หญิง บุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ได้ส่งหนังสือแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระมหากรุณาให้โครงการปฏิสังขรณ์ฯ เขตพุทธวาส ได้แก่ งานบูรณปฏิสังขรณ์หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง และพระวิหารน้อย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตามที่ขอพระมหากรุณา และทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ได้เข้ามาดำเนินการนั้นทางหัวหน้าฝ่ายสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ขอให้ทำความเข้าใจร่วมกันว่าการบูรณะโบราณสถานวัดกัลยาณมิตรอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเพียง 4 รายการดังกล่าว และได้ดำเนินการเสร็จแล้วตั้งแต่ พ.ย. 2557 ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับบริเวณสังฆาวาสที่ทางวัดได้ทุบรื้อทำลายไปแล้ว 22 รายการ ขอย้ำว่าจะมาอ้างว่าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้วไปไล่ทุบโบราณสถานอื่นๆที่นอกเหนือจาก 4 รายการไม่ได้
อธิบดี ศก. กล่าวต่อว่า ต่อมาทาง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้พิจารณาเพิ่มการบูรณะเก๋งจีนอีก 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 5 รายการ โดยกระบวนการบูรณะนั้น ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ ศก. อย่างถูกต้อง ได้แก่ การจัดทำรูปแบบรายการที่จะบูรณะ แล้วนำรูปแบบนั้นมาขออนุมัติ ศก. จากนั้นทาง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ไปจัดซื้อจัดจ้างเอง โดยไม่ได้นำเงินให้วัดแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อความเป็นธรรมกับสำนักงานทรัพย์สินฯด้วยว่าการบูรณะ 5 รายการ ตาม “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตพุทธาวาส” อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น ได้ทำทุกอย่างตามระเบียบราชการถูกต้องมาโดยตลอด ทั้งนี้ ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มอบเอกสารการดำเนินงาน รวมงบประมาณทั้งหมด กว่า 67 ล้านบาท
นายบวรเวท กล่าวว่า สำหรับศาลารายซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสนั้น เมื่อทางวัดมีการรื้อถอน ทาง ศก. จึงมอบให้กองโบราณคดีไปแจ้งความเพิ่มอีก 1 คดี รวมขณะนี้มีคดีที่ ศก. แจ้งความต่อวัดกัลยาณมิตรที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจรวมเป็น 6 คดี ถ้าเมื่อไหร่คดีสิ้นสุดแล้วทาง ศก. ชนะคดี ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเข้ามาช่วย ศก. บูรณะตามกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากขณะนี้ทางวัดกัลยาณมิตรจะชะลอการบูรณะที่เหลือเก๋งจีนหลังเดียว ก็ต้องแจ้งต่อทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้พิจารณาเพราะเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง ไม่ใช่กรมศิลปากร
“กรมศิลปากรไม่ได้ขัดข้อง หรือขัดขวางการบูรณะวัด ต่อเติม กั้นห้อง ทำห้องน้ำตามประโยชน์ใช้สอยปัจจุบัน ทั้งกุฏิเก่า สระน้ำ ภายในทำได้หมด เพียงภายนอกขอให้ทำถูกต้องตามรูปแบบโบราณ รักษาของเก่าเอาไว้ เรามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ สถาปนิก วิศวกร จะมาเข้าใจเอาเองว่าของเก่าต้องทุบทิ้งหมด มันไม่ได้ ผมจะทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน กระบวนการของศาลกี่ปีก็รอ ขอให้ความจริงปรากฏ เพราะถ้าไม่ทำให้ชัดเจนทุกอย่างก็จะเรื้อรังไปเรื่อยๆ สำหรับ 6 คดีที่กรมศิลปากรแจ้งไว้ ถ้าชนะคดีอาญา ก็จะฟ้องคดีแพ่งต่อเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้องให้ชดใช้เงิน และให้สร้างโบราณสถานทั้ง 22 รายการกลับคืนมาให้เหมือนเดิมตามรูปแบบรายการที่กรมศิลปากรได้ทำทะเบียนไว้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบเวลานี้ตำรวจได้เร่งรัดสอบถามขยายผลไปยังสำนักงานเขตธนบุรีแล้วว่ามีส่วนรับรู้เรื่องนี้หรือไม่ เพราะการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ต้องส่งรูปแบบรายการให้ทางเขตรับทราบ” นายบวรเวท กล่าว
อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า ศก. เคยยื่นขอให้ศาลมีการคุ้มครองชั่วคราวโบราณสถานระหว่างดำเนินคดีนั้น ทางศาลไม่ประทับรับฟ้องเพราะทุกคดีที่ผ่านมายังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ทางวัดยังทุบทิ้งทำลาย ศก. ก็จะแจ้งความจับไปเรื่อยๆ เพิ่มข้อหาไปเรื่อยๆ แล้วใครจะสามารถห้ามพระรูปนี้ได้ หากที่สุดแล้วทางตนพร้อมจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ตามมาตรา 7 ทวิ กับมาตรา 10 หากมีการปลูกสร้างอาคารใหม่บนพื้นที่โบราณสถานโดยไม่แจ้งต่ออธิบดี ศก. หรืออธิบดีศก.ไม่อนุญาต ให้อธิบดี ศน. ใช้อำนาจเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างใหม่นั้นได้ อาจจะรื้อถอนเป็นตัวอย่างก่อนสัก 1 หลังในเร็วๆนี้
วันเดียวกัน นายวัชรา พรหมเจริญ ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทางวัดได้ชะลอการรื้อถอนและบูรณะโบราณสถานภายในวัด รวมถึงชะลอโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานสำคัญภายในวัด เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งวัด 190 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งได้แจ้งเรื่องนี้ต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ได้รับทราบแล้ว ทั้งนี้ เพื่อรอให้การพิจารณาคดีของศาลปกครองมีข้อยุติที่ชัดเจน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่