กระทรวงวัฒนธรรม เชิญคณะทูตานุทูตและคู่สมรส 26 ประเทศ พร้อมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และวัดพระพุทธบาทบัวบาน จ.อุดรธานี วันที่ 14 - 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตามโครงการวัฒนธรรมสัญจรแหล่งมรดกโลกสำหรับคณะทูตานุทูต ซึ่งทริปนี้ นอกจากเดินทางไปภูพระบาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ทุ่งบัวแดง คณะยังร่วมกิจกรรมเขียนสีลงบนเครื่องปั้นดินเผา ที่ชาวอุดร อนุรักษ์ขั้นตอนการปั้น เขียนสีแบบดั้งเดิมให้คงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
ภูพระบาท นับได้ว่าเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณภูเขา มีหลักฐานชี้ชัดว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญชาวบ้าน เชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มีตำนานหอนางอุสา ซึ่งเป็นตำนานพื้นบ้านอุสา - บารส และพระกึด - พระพาน อันมีต้นกำเนิดมาจากเรื่องพระอนิรุทธ์และนางอุสา ที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วเกี่ยวเนื่องกับภูพระบาท
พร้อมกันนี้ ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีให้ทุกคนได้เห็น ก็คือ ภาพเขียนสีบนผนังหินทั่วทั้งภูพระบาท มีภาพคน สัตว์ มือ ลวดลาย เรขาคณิต เป็นภาพยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงเสมาหินยุคทวารวดีของแท้ดั้งเดิม
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตำนานพื้นบ้าน คณะทูตานุทูต ยังได้สัมผัสธรรมชาติปรุงแต่ง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นต่างจากที่อื่นๆ ก็คือ แท่งหิน เพิงหิน ต้นไม้ขึ้นอยู่บนก้อนหิน ส่งผลให้หินแต่ละก้อนมีความงดงามแตกต่างกันออกไป สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสีสัน เสน่ห์ให้ผู้มาเยือนหลงใหล
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เล่าให้ฟังว่า ไทยกำลังผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ให้คณะกรรมการมรดกโลกตัดสินในเดือนมิถุนายน 2559 ผมคิดว่าภูพระบาท เป็นสถานที่ที่มีความพร้อมครบถ้วน ตามเกณฑ์มรดกโลก 3 เกณฑ์ ได้แก่ เป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียวของการสืบทอดวัฒนธรรม ตัวอย่าง ภาพเขียนสีและโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ รอยพระพุทธบาทและสถูปเจดีย์ที่ชาวบ้านบูชาจนทุกวันนี้ แล้วยังมีหลักฐานยุคทวารวดี ลพบุรี อยู่ที่นี่
นายวีระ ให้เหตุผลการเชิญคณะทูตานุทูตพร้อมคู่สมรส เดินทางมาภูพระบาทว่า เพื่อให้คณะทูตานุทูต ส่งสัญญาณไปยังประเทศตนเอง เพื่อขอเสียงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทให้เป็นมรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย
นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากร ได้จัดทำแผนบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งบรรจุในเอกสารเสนอสู่วาระที่ 1 ของการเสนอเป็นมรดกโลก โดยผนวกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับชาติจนถึงท้องถิ่นร่วมรับผิดชอบ ได้แก่ กรมศิลปากร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ จังหวัดอุดรธานี องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เข้ามามีส่วนในการบริหาร และอนุรักษ์พื้นที่ภูพระบาท
อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า มั่นใจว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีคุณค่าที่จะขึ้นเป็นมรดกโลกได้อย่างแน่นอน จึงได้ปรับปรุงศูนย์ข้อมูลภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และจะมีแผนส่งเสริมการเรียนรู้ตำนานอุสาบารสให้เป็นที่จดจำของผู้มาเยือนภูพระบาท ที่สำคัญ จะต้องมีการอนุรักษ์ภาพเขียนสีโบราณที่อยู่โดยรอบภูพระบาททั้งหมดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะมีความเสี่ยงที่เลือนรางไปได้ตามธรรมชาติ ทั้ง จากลม แสงแดด ฝน และจากฝีมือนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงมากที่สุด ขณะนี้ได้มีการลอกแบบของภาพเขียนสีเอาไว้แล้ว และมีโครงการปลูกต้นไม้เพื่อบังแสงแดดกระทบภาพเขียนสี อย่างไรก็ดี ตนขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวทุกคนช่วยกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูพระบาท อย่าจับภาพเขียนสี หรือนำสีไปขีดเขียน
...งานนี้ ชาวอุดรธานี จะต้องลุ้นว่า ภูพระบาท จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกหรือไม่ หากได้รับการบรรจุ จะเป็นไฮไลต์ ให้นักท่องเที่ยวชาวไทย ต่างชาติ หลั่งไหลมาเยือน จ.อุดรธานี เพิ่มมากขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น