พังงา - รมว.กระทรวงวัฒนธรรม เปิดศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน พร้อมส่งมอบให้ อบจ.พังงา บริหารจัดการ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวกับดินแดนชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และด้านธรรมชาติวิทยา
เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (8 ม.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด และพิธีส่งมอบอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ณ บ้านท่าด่าน ต.เกาะปันหยี อ.เมืองพังงา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน โดยมี นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบำรุง ปิยนามวาณิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา และประชาชนชาวจังหวัดพังงาเข้าร่วม
นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 20 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ทางกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กรมศิลปากรจัดสร้างเมื่อปี 2542 และได้ประสบต่อปัญหาต่างๆ จนได้ก่อสร้างจริงเมื่อปี 2552 จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2554 เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวกับดินแดนชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และด้านธรรมชาติวิทยา และยังเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ สร้างเสริมคุณภาพทรัพยากรท่องเที่ยวให้ยั่งยืน อันจะส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป
ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร 5 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 อันดามันที่สุดแห่งใจ อาคาร 2 เส้นทางสายไหมทางทะเล อาคาร 3 ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม อาคาร 4 เขา ป่า นา เล และโลกสีคราม อาคาร 5 สวรรค์อันดามัน ซึ่งได้รับการปรับปรุง และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ และเทคนิคการนำชม โดยประสานความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร สำนักงานวัฒธรรมจังหวัดพังงา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ทำให้อาสาสมัครในท้องถิ่นได้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของดินแดนอันดามันได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งด้านทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป