xs
xsm
sm
md
lg

สุดทน! 22 โบราณสถานวัดกัลยาฯ ถูกทุบทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมศิลป์เผย 22 โบราณสถานวัดกัลยาฯ ถูกทุบทิ้งภายใน 12 ปี เสียหายยับเยิน ทั้งหอระฆัง อาคารเสวิกุล ศาลาทรงปั้นหยา หอกลอง หอสวดมนต์กัลยาณาลัย ศาลาปากสระ กุฏิเก่าคณะ 7 ยันทางวัดอ้างไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถานไม่ได้ เหตุส่งหนังสือแจงหลายรอบ พร้อมติดป้ายบอกชัดเจน

วันนี้ (18 มี.ค.) นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร (ศก.) เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีการรื้อถอนทำลายดัดแปลงแก้ไขโบราณสถานกุฏิ คณะ 1 วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กล่าวว่า การแจ้งความดำเนินคดีอาญา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ถือว่าเป็นคดีล่าสุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ศก. ได้ดำเนินคดีทั้งหมด 15 คดี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยสรุปอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 10 คดี คงเหลือ 5 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวนของ สน.บุปผาราม ซึ่งตลอดระยะเวลา 12 ปี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้รับความเสียหายรื้อทำลายไปแล้วจำนวน 22 รายการ อาทิ หอระฆัง อาคารเสวิกุล ศาลาทรงปั้นหยา หอกลอง หอสวดมนต์กัลยาณาลัย ศาลาปากสระ กุฏิเก่าคณะ 7 จำนวน 3 หลัง รื้อราวระเบียงหิน พื้นหิน ตุ๊กตาหินอับเฉา กุฏิสงฆ์คณะ 4 และการถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 4 และถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 2 นอกจากการรื้อถอนทำลายโบราณสถาน ยังมีการก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ศก. ด้วย

“9 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งมายังผมโดยตรงว่า มีการทุบทำลายโบราณสถานภายในวัดกัลยาฯ อีก จึงได้เดินทางไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 มี.ค. พร้อมนำตำรวจเข้าจับกุมคนงานที่กำลังทุบอยู่ 2 คน ซึ่งถือเป็นความผิดซึ่งหน้า คือ นายแขก วงสียา กับ นายเล่ คำมั่น ทั้งสองคนมีสัญชาติลาว ขณะนี้ทางไวยาวัจกรของวัดกัลยาฯ ได้ประกันตัวไปแล้ว 1 คน ส่วนอีกคนไม่สามารถประกันตัวได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารการเข้าเมืองที่ถูกต้อง ดังนั้น ขณะอยู่ระหว่างการสอบสวนทางคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขยายผลว่า เป็นคนงานของบริษัทใด แล้วใครเป็นผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการทุบรื้อทำลายโบราณ ซึ่งทางตำรวจจะดำเนินการทางคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน” นายบวรเวท กล่าว

นายบวรเวท กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ทางวัดกัลยาฯ อ้างว่า ไม่มีเจตนาทุบรื้อทำลาย และไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถาน แต่ในความเป็นจริงวัดกัลยาฯ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ปี 2492 ทั้งในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส รวมพื้นที่กว่า 10 ไร่ ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเป็นลายลักษณ์อักษรตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตัดปัญหาที่ทางวัดอ้างไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถาน ปี 2555 ศก. จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปอย่างเป็นทางการว่า วัดกัลยาฯ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ แต่ก็ยังพบปัญหารื้อทุบทำลายอย่างต่อเนื่อง แม้ ศก. จะเข้าไปติดป้ายประกาศว่าเป็นโบราณสถานแล้วแต่ก็ถูกรื้อออกหลายรอบ โดยเฉพาะปี 2555 2556 2557 จนมาถึงปี 2558 ในกรณีล่าสุด ตนในฐานะอธิบดี ศก. จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีเอง โดยทำกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะหากไม่ทำอะไรเลยจะถูกรื้อทำลายไปเรื่อยๆ จนวัดเสื่อมค่า

“การแจ้งดำเนินคดีครั้งนี้ ถือว่ามีน้ำหนักมาก ทางวัดกัลยาฯ จะอ้างไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ ไม่ได้แล้ว โดยทาง ศก. จะเร่งรัดคดีนี้เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับ 5 คดีที่เหลือ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ และได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ทราบเป็นระยะ” นายบวรเวท กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น