xs
xsm
sm
md
lg

กสร.โต้ข่าว บ.ผลิตรถยนต์แห่ลด พนง.ยันไม่มีสัญญาณเลิกจ้างรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยัน ไม่มีสัญญาณเลิกจ้างรุนแรง เผย บ.จีเอ็ม เลิกจ้างพนักงานร้อยละ 30 รอติดตามการจ่ายค่าชดเชย ด้านเครือข่ายแรงงานเผยหลายสถานประกอบการปรับโครงสร้างพนักงาน ห่วงต่างด้าวแย่งงานคนไทย
 นายวรานนท์ ปีติวรรณ
วันนี้ (11 มี.ค.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าบริษัทผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ เตรียมปรับลดพนักงานและกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเพื่อลดต้นทุน ว่า จากที่ กสร. ติดตามข้อมูลพบว่ามีเพียงบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (จีเอ็ม) เท่านั้น ที่ประกาศปรับโครงสร้างพนักงานโดยให้ลาออกตามความสมัครใจ ร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลดขนาดธุรกิจในประเทศไทย ซึ่ง กสร. จะติดตามต่อไปว่าพนักงานกลุ่มนี้ได้รับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า น่าจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นบริษัทต่างชาติ มีระบบการจ้างงานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ ยังไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะมีการปรับลดจริงหรือไม่
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า กสร. ได้ติดตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะมีการปรับลดพนักงานหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีมาตรการจูงใจในการลงทุนหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากสถิติผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีจำนวนทั้งหมด 45,705 คน แบ่งเป็นลาออกจำนวน 37,895 คน และถูกเลิกจ้างจำนวน 7,810 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าเพิ่มขึ้นจำนวน 5,295 คน คิดเป็นร้อยละ 13.10 โดยมีผู้ที่ลาออกเพิ่มขึ้นจำนวน 4,017 คน และถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจำนวน 1,278 คน
 
ด้าน นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ขณะนี้ อยู่ในสถานการณ์ทรงตัว มีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่บ้างบางส่วน แต่ก็มีรถยนต์ที่ผลิตสต็อกไว้ซึ่งยังต้องมีการระบายออกสู่ตลาด อีกทั้งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องยานยนต์ เช่น เบาะรถยนต์ได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการปรับลดพนักงานนั้นทราบว่า บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีการปรับลดพนักงานจริง ร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด ในขณะที่บางบริษัทปรับลดพนักงานเหมาช่วง (ซับคอนแทรก )และหลายบริษัทก็มีการปรับลดโอที ทำให้มีรายได้ลดลง นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือค่ายรถยนต์หลายแห่งมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น โดยอาศัยระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้คนไทยถูกแย่งงาน
 
“ที่ผ่านมา มีบางบริษัทกดดันให้พนักงานคนไทยลาออกเพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน เนื่องจากไม่มีอำนาจในการต่อรองทั้งที่ปัจจุบันคนไทยยังว่างงานเป็นจำนวนมาก โดยเร็วๆ นี้ เครือข่ายแรงงานจะขอเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอหารือในเรื่องนี้ ” นายยงยุทธ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น