xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ คสช.ดัน กองทุนภาคประชาสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอบรรลุ” เสนอ คสช. ดัน “กองทุนภาคประชาสังคม” ด้าน สนช. แนะ “รัฐ” ประสานมือภาคประชาสังคมสร้างสวัสดิการร่วมกัน

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่โรงแรมบางกอก ชฎา ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนภาคประชาสังคม ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคีเครือข่าย เปิดเวทีเสวนา ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง : สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ครั้งที่ 3 ประเด็น “ประชาสังคมเข้มแข็ง สู่สังคมสวัสดิการแนวใหม่” โดยมี นายแพทย์ บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ตามความเห็นส่วนตัวมองว่า ในยุคของ คสช. เข้ามาบริหารงานตรงนี้ คสช. ควรผลักดันให้การทำงานของภาคประชาสังคมเกิดขึ้นจริงให้ได้ เน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทำงานของเขา และสวัสดิการแนวใหม่ คือ สวัสดิการที่พลเมืองเข้าถึงสวัสดิการโดยเท่าเทียมกัน ลักษณะบริการที่เหมือนกัน โดยใช้ความเป็นธรรมเป็นหลักการ เริ่มต้นจากเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน เริ่มจากการปฏิรูปตัวคนให้มีระเบียบวินัย

นายมณเฑียร บุญตัน เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม กล่าวตอนหนึ่งว่า ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่า สังคมที่ไร้สวัสดิการจะมีช่องว่างระหว่างคนรวย คนจนชัดเจน หรือแม้กระทั่งรูปแบบรัฐที่จัดสวัสดิการให้กลับประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อเงินรายจ่ายกับรายรับไม่ได้สมดุลกันก็ไปไม่รอดเช่นกัน เพราะฉะนั้นหลักการของประชาสังคมจึงเป็นการเดินสายกลาง การจัดสวัสดิการบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องจัดโดยรัฐ ประชาชนรวมตัวเป็นระบบมีระบบจัดการที่ดี รัฐช่วยบางส่วน ประชาชนสามารถจัดสวัสดิการกันเองได้ กลายเป็นว่า เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประชาสังคมเองนั่นมีหลายมิติ ทั้งรวมตัวเพื่อจัดสวัสดิการ หรือเป็นหุ้นส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับภาครัฐ รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบราชการแผ่นดินได้อีกทางหนึ่ง ถือเป็นสร้างพลังถ่วงดุล รัฐจึงจำเป็นต้องเป็นส่วนสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมที่สามารถจัดการตนเองให้มีความเข้มแข็ง และภาคประชาสังคมมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพลเมืองได้อีกด้วย

ด้าน นายสามารถ สระกวี เครือข่ายครัวใบโหนด กล่าวถึงเครือข่ายฯท้องถิ่น ว่า การรวมกลุ่มเป็นประชาสังคมของเครือข่ายครัวใบโหนดนั้น เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของออมทรัพย์ที่ลงหุ้นละ 10 บาท สมาชิกทุกคนลงได้ไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน ตัวกองทุนที่เกิดขึ้นสามารถโตด้วยตัวเองตามฐานการเงินและฐานสมาชิก และยังแบ่งแก้ปัญหาแต่ละส่วนเป็นกองทุนย่อย อาทิ กองทุนแก้ปัญหาที่ดินจากที่ชาวบ้านมีหนี้สินอยู่ กองทุนสวัสดิการ ที่ดูแลความเจ็บไข้ไม่สบายนอนรักษาพยาบาล กองทุนธุรกิจชุมชน ธุรกิจท้องถิ่น เช่น น้ำตาลโตนดเหลวที่นำมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เกิดกำไรจากธุรกิจตรงนี้ ที่นำมาปันผลให้สมาชิกได้อีกทาง และนอกจากนี้ ยังนำไปช่วยเหลือที่เดือดร้อน เมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วมต่างๆ เป็นต้น เงินทุนย่อยของแต่ละกองทุนมาจากกำไรของออมทรัพย์ทั้งสิ้น ซึ่งพัฒนาการของชุมชน

“ประเด็นสำคัญคือ ภาคประชาสังคมจะขาดคนระดับล่างไม่ได้ ชนบท ถ้าจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งต้องทำให้คนระดับล่างเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้เป็นหลัก หากภาครัฐจะช่วยภาคสังคมจริงๆ จะต้องกระจายอำนาจ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ เพราะว่ากลุ่มย่อยระดับล่างสามารถเชื่อมโยงปัญหาที่แท้จริงได้มาก” นายสามารถ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น