สพฐ. ให้เขตพื้นที่ฯ รับผิดชอบออกข้อสอบ O-Net 3 กลุ่มสาระฯ ชี้เพื่อคุมมาตรฐานและจะใช้เป็นข้อสอบกลางสอบ ร.ร. ในกลุ่ม พร้อมตั้งคณะกรรมการกลางควบคุมการสอบของพื้นที่ฯ
วันนี้ (3 มี.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือที่ประชุมกรณีที่คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติให้จัดสอบวิชาการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) จำนวน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและสังคมศึกษา ส่วน อีกสามกลุ่มสาระฯ ที่เหลือคือ ศิลปะ พลศึกษาสุขศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบเองโดยจะเริ่มสอบปีการศึกษา 2558 นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเตรียมตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการสอบใน 3 กลุ่มสาระฯ ที่โรงเรียนต้องจัดสอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดสอบได้มาตรฐาน สพฐ. จะไม่ให้โรงเรียนออกข้อสอบรายโรง แต่จะมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตเป็นผู้รับผิดชอบ กำหนดเนื้อหาสาระ วิธีการ การวัดผลประเมินผล และออกข้อสอบกลางที่เหมาะสมในแต่ละเขตพื้นที่ฯขึ้นและใช้สอบร่วมกันใน ซึ่งจะหารือร่วมกับคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเรื่องดังกล่าว
“สพฐ. เห็นว่า ข้อสอบ O-Net ทั้ง 3 วิชาไม่ควรออกข้อสอบเองจากส่วนกลาง ที่เหมาะสมต้องให้โรงเรียนเป็นผู้ออกข้อสอบเอง แต่ก็หากจะให้โรงเรียนเป็นผู้ออกข้อสอบมาตรฐานก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเห็นว่าควรให้เขตพื้นที่ฯรับผิดชอบออกข้อสอบจะเหมาะสมกว่า ซึ่งการออกข้อสอบเป็นกลุ่มโรงเรียน มีการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างบางจังหวัด เวลาจะออกข้อสอบวิชาหลัก อาทิ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ก็จะมาออกข้อสอบร่วมกัน ซึ่งอาจจะมีความผิดเพี้ยนบ้างตามบริบท แต่โดยรวมแล้ววิธีการนี้จะทำให้สามารถคุมมาตรฐานได้ ขณะเดียวกัน โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดสอบ และออกข้อสอบ ก็สามารถใช้ข้อสอบกลางที่ออกโดยเหตุพื้นที่ฯ ได้” นายกมล กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ออกข้อสอบ แต่ สพฐ. จะต้องดูแลในเรื่องของมาตรฐานการออกข้อสอบให้มีคุณภาพ สามารถนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนต่อได้ และไม่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการปล่อยเกรด ออกข้อสอบง่ายเกินไป หรือให้คะแนนช่วยเหลือกัน ขณะเดียวกัน หากเกิดความผิดพลาด หรือมีข้อร้องเรียนในเรื่องการทุจริต เขตพื้นที่ฯ ก็จะต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 วิชานี้ ตนเห็นว่าไม่ควรจะออกข้อสอบที่เน้นเนื้อหามากเกินไป ควรจะจัดสอบภาคปฏิบัติที่วัดทักษะการเรียนรู้ เจตคติ รวมถึงการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนให้มากขึ้นด้วย โดยยอมรับว่าการวัดผลภาคปฏิบัติเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่หากสพฐ. สามารถดำเนินการจัดสอบได้ อย่างมีมาตรฐานเชื่อว่าจะสามารถยกระดับการศึกษาไทยให้ดีขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่