xs
xsm
sm
md
lg

คัด 8 สุดยอดนวัตกรรมจากเด็กพิการไทยสู้อาเซียน มั่นใจไม่แพ้ชาติใด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ. มั่นใจนวัตกรรมการศึกษาเด็กพิการของไทยเจ๋งไม่แพ้ใครในอาเซียน เตรียมคัด 8 สุดยอดนวัตกรรม เพื่อนำไปร่วมโชว์งานมหกรรมการศึกษาคนพิการอาเซียน มิ.ย. 58 หวังเป็นต้นแบบไปต่อยอดดูแลเด็กพิการต่อไป

วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จัดงาน “การศึกษาพิเศษไทยก้าวไกลสู่อาเซียน” เพื่อนำเสนอนิทรรศการการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ และผลงานทางวิชาการ (Symposium) ระดับประเทศ มีครูและอาจารย์เข้าร่วมงานกว่า 200 คน โดย นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดงานพร้อมเสวนาในหัวข้อเดียวกัน มีใจความสำคัญว่า สพฐ. มีหน้าที่สำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม ซึ่ง สพฐ. ได้กำหนดจุดเน้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กทั่วไป ประมาณ 70% ต้องได้รับความรู้ทางวิชาการ การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ มีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และมีทักษะที่เหมาะสมตามที่กำหนดในศตวรรษที่ 21 กลุ่มที่ 2 เด็กเก่งและอัจฉริยะที่มีความสามารถเฉพาะด้าน เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น ก็จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมมีโรงเรียนที่พัฒนาเฉพาะด้าน และกลุ่มที่ 3 เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะเด็กพิการ ที่ต้องได้รับการเตรียมความพร้อมให้เขามีทักษะการใช้ชีวิตในสังคม รวมทั้งก้าวไปสู่การแข่งขันในประเทศและก้าวสู่ประชาเศรษฐกิจอาเซียน เพราะฉะนั้น สพฐ. จึงได้กำหนดจุดเน้นเรื่องของโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมให้เด็กได้รับการพัฒนาสมรรถนะต่างๆ และเติบโตอย่างมีศักยภาพในอนาคต

ที่ผ่านมา สพฐ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องดังกล่าวแล้วไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครูการศึกษาพิเศษ การสร้างเครือข่ายชุมชนและภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แต่ก็ยอมรับว่าการจัดการศึกษาพิเศษยังมีปัญหาเรื่องการเรียนร่วมในโรงเรียนบางโรง เนื่องจากครูยังไม่มีความทุ่มเทและใส่ใจกับเด็กกลุ่มนี้มากนัก ดังนั้น สพฐ. จึงอยากสร้างบุคลากรให้เป็นครูแทนครู เพื่อมาดูแลเด็กเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ หรือการใช้สื่อสมัยใหม่เข้ามาเติมเต็มในกระบวนการเรียนการสอน” นายกมล กล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยนั้นมีเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางร่างกายที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น รูปแบบนวัตกรรมที่นำมาใช้จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการจะต้องมีความหลากหลายสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเด็กด้วย

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สพฐ. จะวางระบบการศึกษาพิเศษในประเทศให้มีรากฐานมั่นคง เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและช่วยให้เด็กไม่เป็นภาระของสังคม และในอนาคตจะยกระดับการศึกษาพิเศษเข้าสู่ประขาคมอาเซียนด้วย โดยจะใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยง เพราะเราเชื่อมั่นว่ารูปแบบนวัตกรรมการศึกษาพิเศษของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน และหวังว่านวัตกรรมการเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆในอาเซียนได้นำไปใช้ อย่างไรก็ตาม ในการจัดงานครั้งนี้ สพฐ. จะคัดเลือกนวัตกรรมการศึกษาสำหรับเด็กพิการทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 8 นวัตกรรม เพื่อนำไปใช้จัดแสดงในงานมหกรรมการศึกษาคนพิการอาเซียน ประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยจะเชิญประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาการศึกษาของตนเองได้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น