xs
xsm
sm
md
lg

มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบปรับโครงสร้าง อปสข.กระจายอำนาจลงพื้นที่ ให้ รพ.สธ.ยังขึ้นบัตรทอง สสจ.ทำหน้าที่ ม.41

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หน่วยบริการ สธ. ยังทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนบัตรทองและการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ส่วน สปสช. อยู่ระหว่างเพิ่มช่องทางขึ้นทะเบียนทางทะเบียนราษฎร และอินเทอร์เน็ต สสจ. ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการ ม.41 ระดับจังหวัดเช่นเดิม พร้อมปรับโครงสร้าง อปสข. เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการมากขึ้นจากเดิมมีเพียง นพ.สสจ. ให้มีทั้ง รพช. รพท. และ รพศ. เพื่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพ และกระจายอำนาจการตัดสินใจในระดับพื้นที่
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) และความก้าวหน้าการดำเนินการหลังจากไม่มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำหน้าที่เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช.
 
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การลงทะเบียนเลือกและเปลี่ยนหน่วยบริการประจำของประชาชนนั้น หน่วยบริการ สธ. ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่เหมือนเดิม ตามข้อตกลงความร่วมมือ ขณะเดียวกัน ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มช่องทางการลงทะเบียนเพิ่มเติม เช่น ผ่านทางทะเบียนราษฎรของ อปท. และทางอินเทอร์เน็ต ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 41 นั้น สสจ. ยังคงเป็นหน่วยดำเนินระดับจังหวัด และมติบอร์ด สปสช. ได้แก้ไขข้อบังคับแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ใหม่ ให้ นพ.สสจ. เป็นเลขานุการ ซึ่งการดำเนินการไตรมาสแรกของปี 58 มีการรับคำร้องและจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 298 คำร้อง 55.8 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 57
 
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้าง อปสข. ซึ่งจะเพิ่มเติมส่วนผู้แทนของฝ่ายผู้ให้บริการ อาทิ ผอ.รพ.สต. ผอ.โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และ ผอ. โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขณะที่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา อปสข. ซึ่งจะมีผลในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้การทำงานของ อปสข. มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
“ทิศทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพจากนี้ จะมีการผ่องถ่ายการตัดสินใจลงไปยังเขตมากขึ้น เนื่องจากมองว่าหากยิ่งใกล้ประชาชน จะยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพในพื้นที่นั้นๆ และจะสามารถจัดบริการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่ ดัวยเหตุนี้จึงต้องมีการปรับโครงสร้างโดยเพิ่มเติมฝ่ายผู้ให้บริการเพื่อให้เป็นการทำงานที่ครอบคลุมในทุกมิติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
 
ด้าน เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าของการชำระและปิดบัญชี 6 และ 7 หลังจากที่ สสจ. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น สปสช. สาขาจังหวัดแล้วนั้น มติบอร์ด สปสช. 16 ต.ค. 57 ให้ อปสข. หรือคณะทำงานที่ อปสข. มอบหมายพิจารณาจัดสรรงบกองทุนที่เหลืออยุ๋ในบัญชี 6 ให้หน่วยบริการภายใต้วัตถุประสงค์และภาระผูกพันให้เสร็จภายใน 31 มี.ค. 58 ให้ สสจ. ใช้งบบริหารที่เหลืออยู่ในบัญชี 7 สำหรับดำเนินการด้านหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัดได้จนถึง 30 ก.ย. 58 และให้ปิดบัญชี 6 และ 7 ภายใน 30 ก.ย. 58 โดย สปสช. ได้ตั้งคณะกรรมการชำระบัญชีแล้ว และมอบให้ สปสช. เขตพื้นที่ร่วมกับ สสจ. กำกับติดตามเงินคงเหลืออย่างใกล้ชิด
 
ทั้งนี้ ความเป็นมาของการยกเลิกสาขาจังหวัด มีที่มาจากหลักการแยกผู้จัดหาบริการ และผู้ให้บริการออกจากกันตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และข้อเสนอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอว่าให้บอร์ด สปสช. พิจารณาทบทวนการมอบหมายให้ สสจ. ทำหน้าที่ สปสช. สาขาจังหวัด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ที่ให้ยกเลิก สสจ. เป็นสาขาจังหวัด และยกเลิกการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ซึ่งมติบอร์ด สปสช. 7 พ.ค. 57 ได้เห็นชอบตามหลักการดังกล่าว มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 57 และเห็นชอบให้ สธ. และ สปสช. พัฒนาการทำงานร่วมกัน โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นเป้าหมาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น