xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดอาคารผู้ป่วยนอก รพ.ระโนด รับผ่าตัดโรคไม่ซับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ รพ.ระโนด จ.สงขลา หลัง สธ.พัฒนาศักยภาพสามารถผ่าตัดรักษาโรคที่ไม่ยุ่งยากได้ ทั้งไส้ติ่งอักเสบ ผ่าตัดคลอด ไส้เลื่อน พัฒนาระบบโปรแกรมเยี่ยมบ้านสำเร็จรูปของทีมหมอครอบครัว

วันนี้ (27 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารระโนดประชารักษ์” โรงพยาบาลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารสาธารณสุขจังหวัดสงขลา แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ

นพ.วรพจน์ เจียมอมรรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระโนด กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลระโนด ได้รับการพัฒนาศักยภาพมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 35 ปี ปัจจุบัน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง เปิดให้บริการรักษาพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง มีประชาชนใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละ 450 คน ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 54 คน สภาพอาคารผู้ป่วยนอก และอาคารผู้ป่วยในมีความคับแคบ และทรุดโทรม ในปีงบประมาณ 2555-2557 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุขนาด 4 ชั้น พร้อมอุปกรณ์การแพทย์รวม 78 ล้านบาทเศษ แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2557 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารว่า “ระโนดประชารักษ์” และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย ส.ธ. ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร

สำหรับอาคารระโนดประชารักษ์ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 5,700 ตารางเมตร ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงรอตรวจ มีห้องตรวจผู้ป่วยนอก 6 ห้อง ห้องบัตร ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องเอกซเรย์ ห้องจ่ายยา ศูนย์หลักประกันสุขภาพ ชั้น 2 ประกอบด้วย ห้องทันตกรรม ห้องชันสูตรโรค ฝ่ายบริหาร ห้องประชุม ห้องเวชระเบียน ห้องสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ และศูนย์คุณภาพ ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 เป็นหอผู้ป่วยในชาย/หญิง รวม 50 เตียง ห้องพิเศษ 10 ห้อง ห้องไอซียู 5 เตียง ห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน ห้องคลอด และห้องนมแม่ ขณะนี้มีความพร้อมให้บริการแก่ประชาชนในอำเภอระโนด และใกล้เคียงให้ได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลระโนด ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลร่วมดูแลประชาชนในเขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี สงขลา ยะลา และสตูล ประมาณ 5 ล้านคน ได้วางแผนพัฒนาระบบบริการเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชาชนในพื้นที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลใหญ่ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอย่างไร้รอยต่อ ขณะนี้สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ก่อนส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ ให้การรักษาดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด พัฒนารูปแบบบริการหมอครอบครัวดูแลประชาชนถึงบ้าน เน้น 3 กลุ่มพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จัดทำแผนที่บ้านผู้ป่วย ทีมหมอครอบครัวสามารถบันทึกผลการรักษาผู้ป่วยขณะเยี่ยมบ้านได้ทันที ไม่มีตกหล่น และภายใน 1-2 เดือนนี้จะเปิดบริการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ไส้เลื่อน เป็นต้น

ในปีงบประมาณ 2557 มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 30,258 คนรวม 129,395 ครั้ง เฉลี่ยคนละ 4 ครั้ง โรคที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทันตกรรม ไข้หวัด ส่วนผู้ป่วยในมีจำนวน 5,036 คน รวม 13,181 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นโรคอุจจาระร่วง และระบบทางเดินอาหาร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น