xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเปลี่ยนพฤติกรรม “คนอีสาน” เปิบปลาน้ำจืดดิบ แก้มะเร็งท่อน้ำดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. ตั้งคณะทำงานฯ ประสาน อปท. แก้โรคพยาธิใบไม้ตับ - มะเร็งท่อน้ำดี เน้นทำงานเชิงรุกในพื้นที่ เปลี่ยนพฤติกรรมคนอีสาน ชอบเปิบปลาน้ำจืดดิบๆ หวังลดผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่พบปีละ 1.4 หมื่นราย พร้อมหนุน รพ. ตรวจคัดกรอง ค้นหากลุ่มเสี่ยงรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยถึงร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับ และยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่เฉลี่ย 14,000 คนต่อปี จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย บอร์ด สปสช.จึงเห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับท้องถิ่น ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์นำเสนอ

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับฯ กล่าวว่า จากการเสนอข้อมูลสถิติโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ปี 2545 - 2552 พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับ ร้อยละ 80 จะเป็นผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี แม้ว่าจะรักษาให้หายขาดได้ แต่มีจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในช่วงมะเร็งระยะแพร่กระจาย ส่วนการรักษายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแบบซ้ำซาก เรื้อรัง ส่งผลให้ภาวะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบท่อน้ำดีหนาตัว ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนอีสานโดยกำเนิด อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ มีพฤติกรรมกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ กินปลาร้าและของหมักดอง และมีญาติเป็นมะเร็งท่อน้ำดี

จากข้อมูลจะเห็นว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค จึงควรสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้กลไกกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่ง สปสช. สนับสนุนงบประมาณให้แก่ อปท.อยู่ที่ 45 บาทต่อหัวประชากร ในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเชิงรุก โดยการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จะให้ อปท.มีส่วนร่วมทำให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักต่อโรคดังกล่าว นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้ อปท.แต่ละพื้นที่สนับสนุนหน่วยบริการคัดกรองและค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา” นพ.จรัล กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น