xs
xsm
sm
md
lg

สปช.-สนช.เสนอปฏิรูปสุขภาพ ควร "ร่วมจ่ายค่ารักษา" แต่ไม่ใช่ที่ รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปช.-สนช.เห็นร่วม "การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล" แต่ไม่ใช่การจ่าย ณ จุดบริการ เหตุไม่อยากให้เดือดร้อน ส่วนรูปแบบยังต้องศึกษา ระบุหาก รบ.ให้งบเพียงพออาจไม่ต้องร่วมจ่าย สอดคล้อง สปสช.การปฏิรูประบบหลักประกันฯต้องเพิ่มงบประมาณ ลดเหลื่อมล้ำ ขณะที่ สนช.เสนอแยกงบเงินเดือน สธ.ออกจากงบบัตรทอง ด้าน สธ.เตรียมปรับบทบาทคุมนโยบายระดับชาติ

รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (กมธ.สธ.สปช.) กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง "ปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย" จัดโดย คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับ กมธ.สธ.สปช. ว่า การปฏิรูปด้านสาธารณสุข กมธ.สธ. สปช.จะดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.ระบบบริการสาธารณสุข เน้นประชาชนและพื้นที่เป็นฐาน กระจายหน้าที่การให้บริการสู่ท้องถิ่นและเอกชน 2.ระบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และ 3.ระบบการเงินการคลัง ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ รวมถึงการร่วมจ่ายบริการสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการร่วมจ่ายทางตรงหรือทางอ้อมอยู่ระหว่างการศึกษา

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับ สธ.จะเน้นปฏิรูป 4 เรื่อง คือ 1.การกำหนดนโยบายสาธารณสุขของประเทศ โดย สธ.จะปรับบทบาทเป็นองค์กรหลักในการดูแลเรื่องนี้ มีคณะกรรมการอำนายการสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งมีปลัด สธ.เป็นผู้อำนวยการฯ อยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี(ครม.) และมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (กสช.) เพื่อบูรณาการการทำงานที่มีความหลากหลาย 2.ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ โดยให้เขตเป็นผู้กำหนดการจัดบริการ 3.การเงินการคลัง โดยเสนอให้ปรับปรุงการบริหารงบบัตรทอง และ 4.สร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย 1.ต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและยั่งยืน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ พัฒนาระบบปฐมภูมิ บริการฉุกเฉิน บริการเฉพาะด้านที่ขาดแคลนและพัฒนาบุคลากร 2.ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลภาครัฐมีความสอดคล้องกันและส่งเสริมให้ประชาชนทุกสิทธิได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยต้องมีสิทธิประโยชน์ร่วม ระบบข้อมูลและการตรวจสอบร่วม 3.สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เช่น การพัฒนาระบบปฐมภูมิ และ4.การจัดการเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาและภาระของระบบ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.สธ. สนช. กล่าวว่า สนช.เสนอให้มีการร่วมจ่ายของประชาชนเพื่อการสาธารณสุขที่เหมาะสมและมีคุณภาพ โดยไม่ได้จ่าย ณ จุดร่วมจ่าย เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งหากรัฐจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องร่วมจ่าย แต่ถ้าไม่พอ ก็ต้องร่วมจ่าย ถือเป็นการคิดไปอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ เห็นว่าควรแยกเงินเดือนบุคลากร สธ.ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง เนื่องจากปี 2544 มีการกำหนดให้ผูกเงินเดือนไว้กับงบรายหัว เพื่อไม่ให้รับคนเพิ่ม ด้วยหวังว่าจะทำให้คนไหลออกจากโรงพยาบาลที่มีข้าราชการมากเกินเมื่อเทียบกับประชากร แต่ 13 ปีผ่านไปพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เกิดผลในการเกลี่ยคน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องผูกเงินเดือนไว้กับงบ
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น