xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เสนอปฏิรูปพุทธศาสนา ปชช.ร่วมจัดการทรัพย์สินวัด-พระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 10ก.พ. ) คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ได้มีการประชุมนัดแรก โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เน้นการปกครองภายในของพระสงฆ์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หากไม่มีการปฏิรูปแล้วกิจการของศาสนา ก็จะเสื่อมลง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะ กรรมการชุดนี้ขึ้นมาประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีสวนเกี่ยวข้องในด้านกฎหมายมาร่วมเป็นกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ กำหนดแนวทางปฏิรูป และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา พิจารณา และเสนอแนะต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา โดยมีการมีส่วนร่วมจากพุทธบริษัท
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างหลากหลายต่อเรื่องดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เสนอให้มีการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัด และพระสงฆ์ เนื่องจากเห็นว่ามีพระสงฆ์นำเงินไปใช้ในทางที่เสื่อมเสียต่อพระศาสนา อีกทั้งเจ้าอาวาส มีอำนาจแต่งตั้งไวยาวัจกร ผู้ที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดแต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้น จึงเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพย์สิน หรือจัดตั้งคณะกรรมการดูแลทรัพย์สินในวัด และควรมีหน่วยงานที่จะมีหน้าที่ตีความพระธรรมวินัย เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องของพระสงฆ์ นอกเหนือจากมหาเถรสมาคม เสนอให้มีการตั้งสมัชชาชาวพุทธทุกจังหวัด อีกทั้งมีการเสนอให้ใบสุทธิของพระสงฆ์ ให้ออกแบบเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยโยงข้อมูลเหมือนกับบัตรประชาชน เพื่อเป็นมาตรการตรวจสอบ ไม่ให้พระสงฆ์กระทำความผิด
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการสานเสวนากันระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธ กับผู้นับถือศาสนาอื่นๆ เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
จากนั้น ประธานที่ประชุมได้สรุปว่า ทางกรรมาธิการได้มีแนวทางที่จะปฏิรูปด้านดังกล่าว คือ ปฏิรูปให้มีกลไกในการตีความพระธรรมวินัยให้ถูกต้องชัดเจน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ปฏิรูปให้มีการดูแลพระสงฆ์ให้อยู่ในพระธรรมวินัย และให้มีการเข้าใจในระหว่างศาสนาต่างๆด้วย

**ปฏิรูปสุขภาพ ปชช.ต้องร่วมจ่าย

ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (กมธ.สธ.สปช.) ได้จัดสัมนาเรื่อง "ปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย" โดย รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (กมธ.สธ.สปช.) กล่าวว่า การปฏิรูปด้านสาธารณสุข กมธ.สธ. สปช. จะดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ 1. ระบบบริการ สาธารณสุข เน้นประชาชนและพื้นที่เป็นฐาน กระจายหน้าที่การให้บริการสู่ท้องถิ่นและเอกชน 2. ระบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และ 3. ระบบการเงินการคลัง ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ รวมถึงการร่วมจ่ายบริการสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการร่วมจ่ายทางตรงหรือทางอ้อมอยู่ระหว่างการศึกษา
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับ สธ.จะเน้นปฏิรูป 4 เรื่อง คือ 1. การกำหนดนโยบายสาธารณสุขของประเทศ โดย สธ. จะปรับบทบาทเป็นองค์กรหลักในการดูแลเรื่องนี้ มีคณะกรรมการอำนายการสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งมีปลัด สธ. เป็นผู้อำนวยการฯ อยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (กสช.) เพื่อบูรณาการการทำงานที่มีความหลากหลาย 2. ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ โดยให้เขตเป็นผู้กำหนดการจัดบริการ 3. การเงินการคลัง โดยเสนอให้ปรับปรุงการบริหารงบบัตรทอง และ 4. สร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย 1. ต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและยั่งยืน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ พัฒนาระบบปฐมภูมิ บริการฉุกเฉิน บริการเฉพาะด้านที่ขาดแคลนและพัฒนาบุคลากร 2. ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลภาครัฐมีความสอดคล้องกันและส่งเสริมให้ประชาชนทุกสิทธิได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดย ต้องมีสิทธิประโยชน์ร่วม ระบบข้อมูลและการตรวจสอบร่วม 3. สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เช่น การพัฒนาระบบปฐมภูมิ และ 4. การจัดการเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาและภาระของระบบ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.สธ. สนช. กล่าวว่า สนช. เสนอให้มีการร่วมจ่ายของประชาชนเพื่อการสาธารณสุขที่เหมาะสมและมีคุณภาพ โดยไม่ได้จ่าย ณ จุดร่วมจ่าย เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งหากรัฐจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องร่วมจ่าย แต่ถ้าไม่พอ ก็ต้องร่วมจ่าย ถือเป็นการคิดไปอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ เห็นว่าควรแยกเงินเดือนบุคลากร สธ. ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง เนื่องจากปี 2544 มีการกำหนดให้ผูกเงินเดือนไว้กับงบรายหัว เพื่อไม่ให้รับคนเพิ่ม ด้วยหวังว่าจะทำให้คนไหลออกจากโรงพยาบาลที่มีข้าราชการมากเกิน เมื่อเทียบกับประชากร แต่ 13 ปีผ่านไป พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เกิดผลในการเกลี่ยคน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องผูกเงินเดือนไว้กับงบ
กำลังโหลดความคิดเห็น