xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างระวัง! ตั้งหน้าตั้งตาแชตเวลางาน มีสิทธิ์ถูกไล่ออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เตือนลูกจ้างอย่าแชตเวลางาน-ใช้คอมพ์บริษัทคุยเรื่องส่วนตัว ทำบริษัทเสียหาย ชี้นายจ้างมีสิทธิไล่ออก ด้าน กสร.เร่งทำความเข้าใจลูกจ้าง

วันนี้ (7 ก.พ.) นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายจ้างบริษัทแห่งหนึ่งเลิกจ้างลูกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย โดยให้เหตุผลว่าใช้อุปกรณ์ของสำนักงานไปในการส่วนตัวในเวลางาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ซึ่งลูกจ้างได้ไปฟ้องศาลแรงงานแต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องและระบุว่าการกระทำของลูกจ้างทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ว่า กรณีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเกิดความเสียหายจริง ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน นายจ้างสิทธิบังคับบัญชา ส่วนลูกจ้างก็มีหน้าที่ทำงานให้นายจ้าง ดังนั้นควรตั้งใจทำงานอย่านำเวลาปฏิบัติงานไปใช้ในเรื่องส่วนตัวและการใช้คอมพิวเตอร์ของสำนักงานสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งหมด จึงมีหลักฐานและตรวจสอบได้ โดยขอให้ลูกจ้างละเว้นการใช้คอมพิวเตอร์ในเรื่องส่วนตัวในเวลาทำงาน

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางศาลไม่ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขณะเดียวกัน หากลูกจ้างมีการร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานระหว่างนั้นจะไม่สามารถร้องศาลได้เนื่องจากมีการดำเนินการอยู่ แต่หากฟ้องร้องต่อศาลไปแล้วทาง กสร.ก็จะไม่มีอำนาจพิจารณา ต้องเป็นขอบเขตอำนาจของศาล เพราะคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สุด แต่หากมาร้องจต่อ กสร.ก็มีการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่ต่างกัน หลังจากนั้นหากไม่พอใจการพิจารณาของ กสร.สามารถไปฟ้องศาลได้ โดยตามกฎหมายนายจ้างสามารถให้ออกได้เนื่องจากตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ ระบุไว้ เช่น ต้องทุจริตต่อหน้าที่ ไม่จงใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ทำงานโดยประมาทเลินเล่อสร้างความเสียหายต่อบริษัท ฝ่าฝืนระเบียบบริษัทต่างๆ ในกรณีร้ายแรง เป็นต้น

หากมีนายจ้างรายอื่นๆ นำเรื่องนี้ไปอ้างอิงในกรณีที่เห็นลูกจ้างแชตในเวลางาน ก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เวลานานหรือไม่ ติดต่อกันทุกวันหรือไม่ เนื่องจากหากใช้เพียง 1-2 นาที ก็ไม่น่าจะให้ออกได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากสถานการณ์จริงและในแต่ละรายไป นอกจากนี้จะให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในจังหวัดต่างๆ ทำความเข้าใจกับลูกจ้าง ให้มีวินัยในการทำงาน ไม่ใช้เวลางานไปในเรื่องส่วนตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา”นายพีรพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตกรณีนี้จะเป็นการชี้นำนายจ้างที่ไม่พอใจลูกจ้างและไล่ออกโดยใช้เหตุเดียวกันนี้หรือไม่ อธิบดี กสร.กล่าวว่า คงใช้ไม่ได้กับทุกรายเนื่องจากจะมีการตรวจสอบข้อเท็จและหลักฐานการกระทำผิดเป็นรายกรณีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายจ้างระบุลูกจ้างรายนี้อยู่ระหว่างทดลองงาน โดยเริ่มงานเมื่อ วันที่ 25 ม.ค. 53 กำหนด 3 เดือน ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2553 ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทเล่นอินเทอร์เน็ตในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน ซึ่งถือว่าใช้เวลาทำงานของในเรื่องไม่เกี่ยวกับงานทั้งที่อยู่ระหว่างการทดลองงาน ขณะที่งานที่รับผิดชอบเป็นงานด้านบัญชีจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ มิเช่นนั้นจะทำให้ได้รับความเสียหายได้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น