xs
xsm
sm
md
lg

กก.สรรหาฯ เลือก “บูรณ์ ฐาปนดุลย์” เป็นผู้ตรวจการฯ คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บูรณ์  ฐาปนดุลย์ (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมการสรรหาลงมติ 4 ต่อ 2 เสียง เลือก “บูรณ์ ฐาปนดุล” ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นั่งเก้าอี้ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ที่ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาแทน นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ วันที่ 26 ธ.ค. 2557 - วันที่ 7 ม.ค. 2558 มีผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 9 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว., นายสามารถ จิตมหาวงศ์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินภาค 9 (นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินทรงคุณวุฒิ) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายชัยพร ธนถาวรกิจ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, พล.อ.รัตนพันธุ์ โรจนะภิรมย์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ, พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม, นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และพ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ปรากฏว่า มีผู้สมัครที่มีลักษณะต้องห้ามจำนวน 1 คน จึงทำให้เหลือผู้สมัครเพียง 8 คน ภายหลังจากการพิจารณาแล้วที่ประชุมมีมติเลือกนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยคะแนนเสียง 4 คะแนน เป็นคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ ในที่นี้มีกรรมการทั้งสิ้น 6 คน ผู้ได้รับเลือกจึงต้องได้คะแนนอย่างน้อย 4 คะแนน หลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาจะได้นำรายชื่อผู้ไดรับการเสนอชื่อเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2542 โดยเคยดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนราธิวาส, อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น