xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” ลุยล้างหนี้เน่า แบ่งเกรดขายทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล (ซ้าย) ประธานกรรมการธนาคาร และนายสุพจน์  อาวาส กรรมการผู้จัดการ  ร่วมแถลงข่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไข NPLs และการเร่งรัดคดีความ
“เอสเอ็มอีแบงก์” เดินหน้าล้างหนี้เน่า ระบุขายลูกหนี้เป็นกองย่อยตามพื้นที่หลักทรัพย์ พร้อมจ้างบริษัทติดตาม เผยเคลียร์แล้วกว่าครึ่ง แจงส่วนยอดหนี้เหลือค้างกว่า 16,000 ล้านบาท จะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ และบางส่วนจะขอชดเชยจาก “คลัง”

วันนี้ (19 มกราคม 2558) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไข NPLs และการเร่งรัดคดีความ โดย นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคาร และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมแถลงข่าว

นางสาลินีกล่าวว่า ความคืบหน้าการแก้ไขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่ปัจจุบันมียอดค้างรวมอยู่ที่ประมาณ 31,960 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยธนาคารได้คัดเลือกลูกหนี้ NPLs ที่มีหลักประกัน โดยได้มีการสำรวจความชัดเจนว่าลูกหนี้ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว และไม่อยู่ในสถานะที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ ธนาคารจึงมีนโยบายให้เปิดประมูลขายลูกหนี้เป็นกองย่อยๆ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือน ธันวาคม 2557 ได้เปิดขายกองแรกแล้วเป็นลูกหนี้ที่มีหลักประกันอยู่ในภาคตะวันออก โดยกำหนดวงเงินไว้ 500 ล้านบาท

ต่อมาลูกหนี้บางรายได้ขอประนอมหนี้จึงได้มีการตัดลูกหนี้ที่เจรจาได้ออกเหลือยอดหนี้คงค้างของกองหนี้ภาคตะวันออกที่นำออกประมูลขายเป็นจำนวนเท่ากับ 316 ล้านบาท โดยขณะนี้สิ้นสุดระยะประมูลขายแล้ว มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หลายรายให้ความสนใจซื้อซองและยื่นข้อเสนอราคา ซึ่งธนาคารได้เปิดซองประมูลแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดกับ AMC ผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด

นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกประกาศประมูลขายหนี้ NPLs ประเภทเช่าซื้อ และลีสซิ่ง เช่น รถแท็กซี่ (แท็กซี่ในโครงการเอื้ออาทร และไทยเข้มแข็งที่มีมาในอดีต) รถตู้ รถบัส หัวลาก หรือหางลาก เครื่องจักรและเรือ วงเงินรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยได้ให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลสามารถเข้าตรวจสอบรายละเอียดได้ตั้งแต่วันที่ 16-29 มกราคม 2558 และสามารถให้ยื่นเสนอราคาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

สำหรับในส่วนของลูกหนี้ NPLs รายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน วงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ธนาคารได้คัดเลือกบริษัทเอกชน 5 รายให้ดำเนินการเป็นผู้เรียกเก็บหนี้แทน ขณะนี้ทำสัญญาแล้ว 1 ราย คือ บริษัทเงินสดทันใจ ซึ่งธนาคารเปิดโอกาสให้ลูกหนี้รายย่อยเหล่านี้ได้เจรจากับบริษัทผู้แทนของธนาคาร ดังเช่น ลูกหนี้ที่บังคับคดีแล้วได้ร่วมกับกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย ในเดือนธันวาคม 2557 ธนาคารสามารถเจรจากับลูกหนี้กลุ่มนี้ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดเชียงรายได้เป็นผลสำเร็จกว่า 500 ราย เป็นวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้รายย่อยไม่ถูกฟ้องล้มละลาย และมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

นางสาลินีเผยต่อว่า สำหรับ NPLs ที่เหลืออีกประมาณ 16, 000 ล้านบาทจะใช้วิธีเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารมีอัตราเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะดำเนินการ และเชื่อว่าอยู่ในข่ายที่จะเจรจากันได้ เพราะธนาคารได้สำรวจแล้วว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ยังดำเนินธุรกิจอยู่ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่น่าจะดีขึ้นจะช่วยให้การเจรจาสามารถเป็นไปได้มากขึ้น โดยในจำนวนลูกหนี้ NPLs ในกลุ่มนี้มีบางส่วนซึ่งเป็นลูกหนี้รายย่อยตามโครงการ PSA ธนาคารก็จะพยายามเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เช่นเดียวกัน หากเจรจาไม่ได้ก็จะขอเบิกชดเชยจากกระทรวงการคลัง

ด้านนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการฟ้องร้องดำเนินคดี คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(ซุปเปอร์บอร์ด) เร่งรัดให้ธนาคารฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำให้ธนาคารเสียหาย ทั้งในกรณีการทุจริตเกี่ยวกับการปล่อยกู้ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของธนาคาร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1. กรณีเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและอดีตพนักงาน ผู้บริหาร ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วม ในการทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นแก่ภาครัฐและธนาคาร มีคดีถึงที่สุดแล้วอยู่ระหว่างการบังคับคดีกับผู้กระทำผิด 4 เรื่องมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 คน ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการบังคับคดี และมีกรณีระหว่างการพิจารณาของศาลอีก 6 เรื่อง มีผู้ที่เกี่ยวข้อง 19 ราย ซึ่งจำนวนนี้มีอดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์เกี่ยวข้องด้วย 2 ราย

ทั้งนี้ธนาคารได้เชิญที่ปรึกษากฎหมาย และ ทีมงานที่เป็นทนายจากภายนอกเข้ามาช่วยดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ดังนั้นคาดว่าจะทำให้กระบวนการฟ้องร้องของธนาคารจะกระทำได้เร็วขึ้นมาก และรัดกุมไม่เสียเปรียบ

2. มีตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับพนักงานที่อยู่ในข่ายกระทำความผิด เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วในแต่ละกรณีก็จะตั้งคณะกรรมการลงวินัยตามระเบียบของรัฐวิสาหกิจต่อไป ขณะนี้มีเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 19 กรณี มีพนักงานที่เกี่ยวข้อง 32 ราย จำแนกเป็นการกระทำผิดทางด้านสินเชื่อ 6 เรื่อง ด้านร่วมลงทุน 2 เรื่อง ด้านการดำเนินงานที่ขัดนโยบาย 4 เรื่อง และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำผิดระเบียบธนาคารอีก 7 เรื่อง เพื่อให้การสอบสวนสามารถกระทำได้เร็วขึ้น และมีความโปร่งใส เป็นธรรม ธนาคารได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วย เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ )

นอกจากนั้น ยังแต่งตั้งคณะทำงานช่วยเร่งรัดและพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และ ผู้แทนจากกรมพระธรรมนูญทหาร และ อดีตผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าไม่เกินเดือนกุมพาพันธ์ จะสรุปเรื่องทั้งหมดให้แล้วเสร็จได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น