xs
xsm
sm
md
lg

เปิดช่องไกล่เกลี่ยลูกหนี้ กยศ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กยศ. ร่วมมือ กรมบังคับคดี เปิดช่องไกล่เกลี่ยลูกหนี้ ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี สำหรับเขต กทม. และปริมณฑล เริ่ม 21 - 22 ก.พ. ที่กรมบังคับคดี ส่วนต่างจังหวัดติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ประจำจังหวัดได้ตั้งแต่ตอนนี้ ขู่เบี้ยวหนี้ถูกดำเนินคดี ยึดทรัพย์ตาม กม.

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี และ ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และให้มีแนวทางปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกันของทั้งสองหน่วยงาน โดย ดร.ฑิตติมา กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ปล่อยกู้ กยศ. ให้ยาก จ่ายคืนให้ง่าย เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าเงิน และเน้นคัดกรองเด็กที่มีคุณภาพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตนั้น กยศ. ได้จัดโครงการต่างๆ เพื่อรณรงค์ และช่วยผู้ค้างชำระหนี้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดีครั้งนี้ ก็ถือเป็นช่วยให้ผู้ค้างชำระ ตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 4,000 กว่าราย เพื่อช่วยผู้กู้รู้ตัวและมาชำระหนี้ จะได้ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่หากเพิกเฉย ไม่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือติดต่อชำระหนี้ กยศ. ต้องฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อคดีถึงที่สุด ก็ต้องยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 กำหนดให้การบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดแล้ว

ขณะนี้มีผู้กู้ กยศ. ทั้งหมด 4 ล้านกว่าราย ในจำนวนนี้มีผู้กู้ครบชำระหนี้ 2.9 ล้านคน และใน 2.9 ล้านคน เป็นผู้กู้ปกติ ที่ไม่ได้ค้างชำระ 2 ล้านคน ส่วนที่เหลือเป็นผู้กู้ค้างชำระ ดังนั้น อยากให้ผู้กู้ทุกคนมีจิตสำนึกในการชำระหนี้ กยศ. และเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่ กยศ. จัดขึ้น โดยไม่อยากให้มองว่าเป็นเงินให้ฟรี ไม่ต้องชำระคืน” ดร.ฑิตติมา กล่าว

ผู้จัดการ กยศ. กล่าวด้วยว่า โครงการไกล่เกลี่ยฯ นี้จัดขึ้นสำหรับลูกหนี้เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,958 ราย ทุนทรัพย์มูลค่ากว่า 270 ล้านบาท สามารถเข้าร่วมโครงการได้ในวันที่ 21 - 22 กุมภาพันธ์ 2558 ณ กรมบังคับคดี ส่วนในภูมิภาคสามารถติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ประจำสำนักงานบังคับคดีจังหวัด 114 แห่งทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้กู้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย และช่วยให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องได้มีโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการรณรงค์ชำระหนี้ของ กยศ. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการจ้างบริษัทติดตามหนี้ ออกใบแจ้งหนี้ให้ผู้กู้ได้รู้ตัว เพิ่มช่องทางในการชำระหนี้ที่ไปรษณีย์และเคาน์เตอร์เซอร์วิสต่างๆ และโครงการรณรงค์ให้ผู้ค้างชำระหนี้และมาชำระหนี้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2557 ถึง 30 เมษายน 2558 นี้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้กู้ไม่ค้างชำระ ถ้ามาปิดบัญชี จะลดเงินต้น 3% 2. กลุ่มผู้กู้ที่ค้างชำระถ้ามาปิดบัญชีทั้งหมด จะลดเบี้ยปรับ 100% และ 3. กลุ่มผู้กู้ที่ค้างชำระมาชำระงดที่ติดค้าง ลดเบี้ยปรับ 50% ขณะนี้มีผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 9.6 หมื่นคน จากจำนวนผู้กู้ 1.2 ล้านราย กยศ. ได้รับเงินกู้คืนเป็นจำนวนเงิน 600 ล้านบาท คาดว่ากว่าจะปิดโครงการจะมีผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว 1.2 - 1.5 แสนราย ฯลฯ ซึ่งทุกโครงการเป็นที่น่าพอใจ ทำให้มีผู้มาชำระหนี้คืนกยศ.ประมาณ70% และคาดว่าจะมีผู้มาชำระหนี้คืนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

ผู้จัดการ กยศ. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีเสียงคัดค้านแนวทางการปล่อยกู้ที่ กยศ. จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2558 โดยได้กำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำของผู้กู้ให้อยู่ที่ 2.00 เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนมากได้รับกระทบนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะจากการสำรวจของ กยศ. พบว่า มีนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเกณฑ์ดังกล่าวไม่ถึง 10% และเกณฑ์ที่ กยศ. กำหนด เกรดเฉลี่ย 2.00 ถือเป็นเกณฑ์เข้าเรียนพื้นฐาน เด็กจบปริญญาตรีก็ต้องได้เกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ 2.00 อยู่แล้ว ดังนั้น เกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพราะหากนักเรียน นักศึกษากู้ยืมเงินแต่เรียนแล้วไม่มีคุณภาพ จบออกมาไม่มีงานทำ นอกจากระทบต่อรุ่นน้องไม่มีเงินกู้ยืมแล้วยังเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์อีกด้วย ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวใช้พิจารณาทั้งผู้กู้รายใหม่ และผู้กู้รายเก่า โดยผู้กู้รายเก่านั้น หากปีการศึกษานี้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 ก็จะถูกตัดสินในการกู้ยืมเงิน กยศ. แต่หากขยัน ตั้งใจเรียนจนได้เกรดเฉลี่ย 2.00 ก็สามารถยื่นกู้ในปีการศึกษาต่อไปได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น