“กรมบังคับคดี” แถลงผลดำเนินงานไตรมาสแรก เผยผลักดันทรัพย์ได้กว่า 22,122 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 221.23 ของเป้าหมาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการยุติข้อพิพาทด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย
วันนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กรมบังคับคดี น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วยผู้บริหารของกรมบังคับคดี แถลงผลการการดำเนินงานของกรมบังคับคดีในไตรมาสที่ 1 ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 และแผนการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 ที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 ด้านของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
น.ส.รื่นวดีกล่าวว่า กรมบังคับคดีได้ดำเนินงานในการผลักดันทรัพย์สินในช่วงไตรมาสแรกซึ่งได้กำหนดไว้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000,000,000 บาท โดยกรมบังคับคดีสามารถผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบการบังคับคดีได้เป็นจำนวน 22,122,935,696บาท คิดเป็นร้อยละ 221.23 ของเป้าหมาย ของทรัพย์ที่รอการขาย199,876ล้านบาท ล่าสุดสามารถผลักดันทรัพย์สินภายในเดือนมกราคม 2558 ได้อีกจำนวน 8,131,055,148 บาท
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมบังคับคดีดำเนินการเพื่อลดปริมาณสถิติที่อยู่ในกระบวนการบังคับคดี โดยจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการยุติข้อพิพาทด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ มีคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจำนวน 2,904 เรื่อง ทุนทรัพย์1,132,.49 ล้านบาท สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จจำนวน 2,539 เรื่อง ทุนทรัพย์ 893.47 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.43 ของเรื่องไกล่เกลี่ย
สำหรับคดีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้สำเร็จจำนวน 365 เรื่อง ทุนทรัพย์ 329.05 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.57 ของเรื่องที่ไกล่เกลี่ย โดยแต่ละคดีเฉลี่ยทรัพย์สินมีมูลค่า 700,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ พื้นที่ที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จอยู่ใน กทม. 80 ราย ภาคอีกสาน 89 ราย และอื่นๆ สาเหตุในการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ เช่น เกิดจากกำลังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากมีเงื่อนไขระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้บางรายไม่สามารถยืดระยะเวลาให้ได้ตามที่ลูกหนี้ร้องขอ นอกจากนี้ สินทรัพย์ประเภทติดจำนอง บางรายที่มีหลักประกันมูลค่าสูงคุ้มยอดหนี้ ซึ่งกรณีนี้โจทย์จะไม่ให้ความร่วมมือมาเจรจาไกล่เกลี่ยด้วย
น.ส.รื่นวดีกล่าวต่อว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สิน กรมบังคับคดีได้เปิดทำการในวันเสาร์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยไม่ต้องลางาน ซึ่งมีสำนักบังคับคดีที่ขายทอดตลาดในวันเสาร์รวม 12 แห่ง
อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวอีกว่า แผนการดำเนินการในไตรมาสที่ 2 คือช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 นี้จะเร่งผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบบังคับคดี โดยได้ตั้งเป้าหมายผลักดันทรัพย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมบังคับคดีได้ให้ความสำคัญกับหนี้ภาคครัวเรือน หนี้รายย่อย หนี้การศึกษา กยศ. หนี้ธุรกิจ SME โดยทางกรมฯจะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีในไตรมาสที่ 2 อย่างต่อเนื่อง อาทิ ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.นี้จะดำเนินการไกล่เกลี่ยลูกหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่มี่คำพิพากษาแล้วจำนวน 1,958 ราย