xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเครื่องช่วยชีวิตหัวใจวาย 8 สถานที่ เร่งอบรม ปชช.ใช้เป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ติดตั้งเครื่องเออีดีช่วยชีวิตคนหัวใจวายแล้ว 8 สถานที่สำคัญ ทั้งสนามบิน แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ส่วนราชการ รถไฟฟ้าใต้ดิน พร้อมเร่งอบรมประชาชนให้ใช้เครื่องเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หวังเพิ่มโอกาสรอดชีวิตระหว่างรอรถฉุกเฉิน

วันนี้ (29 ม.ค.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. แถลงข่าวการติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automate External Defibrillator : AED) ร่วมกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันปีละประมาณ 54,000 คน สูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ คาดว่า แต่ละปีมีคนไทยหัวใจวาย 60 คนต่อแสนคน โดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง จึงได้นำเครื่องเออีดีมาติดตั้งในที่สาธารณะ พร้อมอบรมวิธีการใช้ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการติดตั้งมาก่อนเหมือนต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น มีการติดตั้งเครื่องนี้ตามที่สาธารณะกว่า 450,000 เครื่อง พบว่าช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตประชาชนถึง 45%

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สถานที่ที่ติดตั้งในไทยคือ 1. สนามบิน ได้แก่ เชียงใหม่ และสุวรรณภูมิ 2. แหล่งท่องเที่ยว ที่พระธาตุดอยสุเทพ และวัดพระแก้ว 3. สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 4. สำนักงานราชการ คือโครงการจราจรในพระราชดำริฯ สำนักงานเทศบาลเมืองชุมพร และ สธ. 5. โรงแรม 5 ดาวใน กทม. และภูเก็ต 6. เครื่องบินสายการบินไทยระหว่างประเทศ 7. แท่นขุดเจาะน้ำมัน ปตท. ในอ่าวไทย จ.ชลบุรี และ 8. โรงพยาบาล ที่ รพ.รามาธิบดี รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช รพ.กรุงเทพ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการกู้ชีพของระบบสาธารณสุขไทย ขยายไปสู่ภาคประชาชนให้สามารถใช้เครื่องช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้นได้ทัน ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพ 1669

หากผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานภายใน 3 - 5 นาที จะช่วยให้รอดชีวิต ป้องกันความพิการจากสมองขาดออกซิเจน เป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราได้ แต่ที่ผ่านมาคนไทยยังไม่มีความรู้ จึงต้องเร่งพัฒนาความรู้เรื่องนี้และทักษะในการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นและการใช้เครื่องเออีดี โดย สธ. จะร่วมกับสมาคมโรคหัวใจฯ จัดทำหลักสูตรอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่งให้เป็นครูต้นแบบ ใช้เวลา 2 - 3 วัน รุ่นละ 40 คน เพื่อให้ไปอบรมประชาชนต่อในทุกจังหวัดให้ได้มากที่สุด เช่น อสม. ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ครูพละ ครูฟิตเนส เป็นต้น ให้ได้ครึ่งหนึ่งของประชากรไทย” รองปลัด สธ. กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องเออีดี ควรตั้งในจุดที่เห็นได้ง่าย นำมาใช้ได้ภายใน 3 - 5 นาที และเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง สัญลักษณ์ของเครื่องที่สังเกตได้ง่ายคือ หัวใจสีแดง มีสายฟ้าพาดอยู่กลางหัวใจ และมีตัวอักษร AED อยู่เหนือรูปหัวใจ ในการช่วยฟื้นคืนชีพต้องปฏิบัติดังนี้ 1. ตรวจสอบชีพจร หากไม่พบให้โทรแจ้งทีมกู้ชีพ 1669 2. ปั๊มหัวใจ โดยกดหน้าอกและช่วยหายใจอย่างถูกต้อง และ 3. ใช้เครื่องเออีดีกระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นระบบอัตโนมัติ มีขั้นตอนการใช้ง่ายและปลอดภัย โดยเครื่องจะตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ให้คำแนะนำเป็นเสียงผ่านลำโพง และมีสัญญาณไฟกระพริบ ตรงตำแหน่งสวิทช์ที่จะกดช็อก ทำให้การช่วยเหลือประสบผลสำเร็จมากขึ้น ช่วยรอดชีวิตสูงกว่าการปั๊มหัวใจอย่างเดียว

ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 90,000 บาท หน่วยงานต่างๆ สามารถสั่งซื้อและติดตั้งได้ตามความต้องการ ขอรับคำปรึกษาได้ที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ โทร. 02-718 0060-4 สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน สธ. โทร. 02 590 1771 และสายด่วน 1669

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น