xs
xsm
sm
md
lg

พัทยาเปิด 3 เมกะโปรเจกต์รับเออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “อิทธิพล คุณปลื้ม” นายกเมืองพัทยา เปิดแผนพัฒนา 3 โครงการยักษ์ เพิ่มศักยภาพท้องถิ่นและเมืองท่องเที่ยวรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558

ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ ได้พูดคุยกับนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ถึงโครงการที่จะดำเนินการในเมือพัทยา ในปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะถึงในไม่ช้านี้ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมของท้องถิ่นการรับมือความเปลี่ยนตามบริบทของสมาชิกประเทศอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น

นายกเมืองพัทยาได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้วางแผนในการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมผลักดันเมือพัทยาให้มีการพัฒนาขีดความสามารถของเมืองท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โครงการแรกที่ดูมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นคือ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเมือพัทยา โดยที่ผ่านมา เมือพัทยาได้นำคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักงบประมาณเดินทางเข้าร่วมตรวจสอบมาตรฐาน และระบบการบริหารจัดการรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยของโรงพยาบาลเมืองพัทยา

สำหรับโรงพยาบาลเมืองพัทยา เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ถือว่ายังไม่เต็มรูปแบบมากนัก เนื่องจากจำเป็นต้องมีการพัฒนางานในด้านของการบริหารจัดการ เรื่องของบุคลากร และเครื่องมือแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมกับเป็นโรงพยาบาลของรัฐตามนโยบายของนายกเมืองพัทยา เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยเป้าหมายรองรับการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ในขนาด 110 เตียง ที่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้กว่า 20,000 คนต่อเดือน

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เมืองพัทยาได้สนับสนุนงบประมาณ และด้านอื่นๆ อย่างเต็มที่จนจัดได้ว่าขณะนี้มีความพร้อมสมบูรณ์แล้วกว่า 90% ในสาขาการให้บริการ 4 สาขาหลัก คือ สูตินรีเวช อายุรกรรม ศัลยกรรม และกุมารเวช รวมทั้งการให้บริการด้านรังสีวิทยา วิสัญญีแพทย์ และอื่นๆอย่างครบถ้วน ด้วยแพทย์เฉพาะทางที่มีความสามารถเฉพาะ โดยได้ทำการว่าจ้างทีมงานผู้ชำนาญการด้านสาธารณสุขจากโรงพยาบาลธนบุรี มารับหน้าที่บริหารจัดการ ด้วยความต้องการให้การบริการมีประสิทธิภาพ และดูแลในรูปแบบของโรงพยาบาลเอกชนในมาตรฐานระดับราคาแค่โรงพยาบาลของรัฐ

ปัจจุบันโรงพยาบาลเมืองพัทยา ได้รับการขึ้นทะเบียนผ่านมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย และยังขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลใหม่ของสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้โรงพยาบาลสามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในช่วงเดือนมกราคม 2558 เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป และจากนี้ยังจะมีแผนการจัดทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และมาใช้บริการ

รายงานล่าสุดในที่ประชุมสภาเมืองพัทยา ญัตติขอรับความเห็นชอบในการโอนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี 2556 หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ไปตั้งเป็นรายการใหม่ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในงบประมาณ 17.5 ล้านบาท โดยระบุว่า ปัจจุบันอัตราการป่วยเป็นโรคหัวใจมีสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะที่สถานพยาบาลมีขีดความสามารถในการรองรับด้วยแพทย์เฉพาะทาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัยยังมีอยู่อย่างจำกัด

เมืองพัทยาจึงมีความเห็นโอนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2556 มาตั้งเป็นรายการใหม่ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 9 รายการ ได้แก่ 1.เครื่องบันทึกรายงานการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด 2.เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3.เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง 4.เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ 5.เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจแบบชั่วคราว 6.เครื่องตรวจอัตราการแข็งตัวของเลือด 7.เครื่องควบคุมสารละลายทางหลอดเลือด และ 8.เครื่องสลายแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อนำมาติดตั้งในศูนย์บริการ ณ โรงพยาบาลเมืองพัทยา เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและบริการด้านการรักษาโรคหัวใจแบบครบวงจร ซึ่งจะส่งผลให้ประ ชาชนมีคุณภาพชีวิต และสุขอนามัยที่ดีขึ้น โดยสภาเมืองพัทยาได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ในการโอนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2556 มาตั้งเป็นรายการใหม่ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ เมือพัทยายังได้จัดทำบันทึกข้อตกลงการจัดบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะล้าน ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี หลังจากการโอนถ่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะล้าน มายังเมืองพัทยา เพื่อเป็นข้อตกลงในการร่วมมือดำเนินการจัดการเพิ่มคุณภาพ และมาตรฐานด้านสาธารณสุขให้เทียบเท่า หรือดีกว่าที่ปฏิบัติไว้ก่อนถ่ายโอน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี มีบทบาทในการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาช่วยราชการปฏิบัติงานระหว่างการโอนย้ายบุคลากร และให้การสนับสนุน รวมถึงการปรึกษาด้านวิชาการ โดยจะมีการติดตามภารกิจการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมืองพัทยาได้จัดสรรงบประมาณ 31 ล้านบาท ในส่วนของการขยาย และตกแต่งสถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากร เพื่อขยายความสามารถในการรองรับผู้ป่วยต่อไปในอนาคต และบทบาทหน้าที่ของเมืองพัทยาภายหลังการถ่ายโอน จะดูเรื่องการจัดบุคลากรปฏิบัติงานเพิ่มเติมให้ครบตามโครงสร้างของสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี

โครงการต่อมาที่จะดำเนินการในปี 2558 คือ โครงการถมทรายชายหาดพัทยาที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ภายหลังจากมีแนวคิดในการจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นเวลานาน โดยเมืองพัทยาได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า สถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหารือรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจ ออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยา ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้อุดหนุนงบประมาณจำนวน 13 ล้านบาท ในการว่าจ้างสถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาสำรวจและวางแผนในการออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยาอย่างเป็นรูปธรรม

หลังหาดพัทยาถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีความกว้างชายหาดเฉลี่ยกว่า 35.6 เมตร เหลือเพียงความกว้าง 4-5 เมตรในปัจจุบัน จนกระทั่งได้มีการวางแผนแล้วเสร็จ ซึ่งกำหนดให้มีการถมทรายในระยะ 35 เมตรจากแนวสันเขื่อนออกไปในทะเลตลอดระยะความยาวกว่า 3 กิโลเมตร จากพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้รับการอนุมัติงบประมาณในการถมทรายจากภาครัฐแล้วจำนวน 430 ล้านบาท โดยจัดสรรเป็นงบประมาณผูกพัน ปี 2557-2558 โดยงบประมาณในปีแรกได้อนุมัติมาแล้วจำนวน 64,500,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมการรองรับปัญหาดังกล่าว โดยกองช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ได้นำเสนอแบบและแผนการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดพัทยา จำนวน 3 จุด งบประมารรวม 176 ล้านบาท คือ 1.การก่อสร้างและวาง Box Culvert ขนาด 3.00x5.80 เมตรต่อเชื่อมบ่อรวบรวมน้ำ (CSO) ความยาวประมาณ 47 เมตร ใกล้สถานีสูบน้ำเสียพัทยาใต้ 2.การก่อสร้างบ่อรวบรวมน้ำ (CSO) ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร ลึก 3.00 เมตร พร้อมต่อเชื่อมและวางท่อ HDPE ขนาดเส้น ผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรลงใต้ท้องพื้นทะเลความยาวประมาณ 1,245 เมตร บริเวณตรงข้ามซอยพัทยา 6/1 และ 3.การก่อสร้าง และวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร ความยาวประมาณ 200 เมตร บริเวณพัทยาเหนือ ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาเป็นจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็จะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยาในหลายจุดลดลง

อีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่น่าสนใจคือ โครงการก่อสร้างทางลดระดับบริเวณแยกสุขุมวิท-ถนนพัทยากลาง ซึ่งต่อมา กรมทางหลวงชนบทได้เสนอแผนแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างทางลดระดับ หรืออุโมงค์ลอดทางแยกพัทยากลาง ถนนสุขุมวิท เพื่อรองรับการสัญจรที่หนาแน่นในอนาคต พร้อมทั้งประสานของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งได้รับการอนุมัติ 837,441,000 บาท พร้อมว่าจ้าง หจก.นภาก่อสร้าง ซึ่งมี ระยะเวลาก่อสร้าง 810 วัน

โครงการนี้ จะเป็นการก่อสร้างทางลดระดับขนาด 4 ช่องจราจรแบบหลังคาปิด ความยาว 1,900 เมตร จากบริเวณปากซอยพรประภานิมิตร ถึงหน้าสถานีขนส่งนครชัยแอร์ พร้อมสะพานลอย 2 แห่ง หน้าศูนย์พระมหาไถ่ โรงเรียนเมืองพัทยา 5 และอาคารควบคุมระบบ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการจราจรในอนาคต

โครงการอุโมงค์ลอดทางแยกถือเป็นโครงการจำเป็น ทำเพื่อแก้ปัญหาการจราจร และรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งจากเดิมตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่ด้วยหวั่นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงได้เลื่อนการก่อสร้างมาในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการนั้นพบว่า มีผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวพันในหลายองค์กร จึงต้องมีการวางแผนรองรับเพื่อลดผลกระทบ ที่อาจจะเกิดต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วางท่อส่งกระแสไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าย่อยภายในซอยสยามคันทรี คลับ ขนาด 22 กิโลวัตต์ 3 วงจร ผ่านแนวท่อลอดใต้ดินในระดับความลึก 3 เมตร จากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งเมืองพัทยา ช่วงบริเวณปากทางพัทยากลาง

จากการรับฟังการชี้แจงจากผู้รับเหมาโครงการ พบว่า อุโมงค์ดังกล่าวจะมีการขุดหน้าดินในระดับความลึก 3 เมตรกว่า ขณะที่บริเวณแนวถนนสุขุมวิทช่วงพัทยากลาง มีการวางแนวท่อส่งน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มม.ขนาบตลอดแนวซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมทั้งระบบการสื่อสารอย่างทีโอที ทีทีแอนด์ที หรือ แคทเทเลคอม และระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยา ที่วางท่อขนาด 1,200 มม. ผ่านแนวถนนที่เชื่อมต่อไปยังโรงบำบัดภายในซอยหนองใหญ่อีกด้วย และตลอดแนวเกาะกลางถนนจำเป็นต้องมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เช่น เสาไฟฟ้า High Mast จำนวน 14 ต้น ป้ายโฆษณา 7 ต้น ป้ายบอกทาง 2 ป้าย ไฟจราจร 5 จุด ระบบกล้อง CCTV ต้นไม้ 256 ต้น รวมทั้งสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าโรงเรียนเมืองพัทยา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้รับเหมาดำเนินโครงการ ซึ่งจะเริ่มลงมือดำเนินการในวันที่ 5 มกราคม 2558

ทั้งหมดคือโครงการที่จะเห็นชัดเป็นรูปธรรมในปี 2558 นี้ ซึ่งอาจะมีบางโครงการที่อาจะส่งผลกระทบบางประการในช่วงดำเนินการ แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่าหากแล้วเสร็จจะเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บและศักยภาพในการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันออกอย่าง “เมืองพัทยา” ได้ในระดับที่ดีเลยทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น