เอเจนซี - สืบเนื่องจากวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นวัน “ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention) ด้านผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรก็เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงพยายามผลิตแอพพลิเคชั่น “ต่อต้านการฆ่าตัวตาย” หวังลดอัตราผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะบุคคลที่ตกอยู่ในภาวะเครียดหรือซึมเศร้า
หยัง ฟู่เต๋อ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฮุ้ยหลงกวนในกรุงปักกิ่ง นครหลวงของจีน อธิบายว่า แอพพลิเคชั่นกำลังได้รับการพัฒนาโดยศูนย์ช่วยเหลือและวิจัยทางจิตวิทยาของโรงพยาบาล โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานภายในสามปีข้างหน้านี้
ด้านคุณสมบัติของแอพฯ ข้างต้น มันสามารถทำการประเมินระดับจิตใจของผู้ใช้ โดยติดตาม “ดัชนีความวิตกกังวล” ผ่านการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (cardiograms) และคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalograms) รวมถึงมีช่องทางให้ผู้ใช้ได้ปรึกษากับแพทย์หรือส่งข้อความสนทนากับโปรแกรมโต้ตอบจากหุ่นยนต์ เพื่อบรรเทาความกดดันต่างๆ
ทั้งนี้ สถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ แต่ละปีมีประชาชนกว่า 120,000 คน ในจีน ที่เสียชีวิตเพราะกระทำอัตวิบากกรรม หรือการฆ่าตัวตาย ส่วนข้อมูลของสำนักสาธารณสุขจีนเผยว่า ตัวเลขดังกล่าวพุ่งไปที่ 287,000 คน ทั้งยังมีอีก 2 ล้านคน ที่พยายามจบชีวิตของตัวเองด้วยเช่นกัน
ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพียงร้อยละ 21 ในจีน ที่ได้รับการวินิจฉัยโรค ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 55.65 อันเป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยในจำนวนดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ได้รับการรักษาทันท่วงที
คนส่วนใหญ่ขาดการประเมินสุขภาพจิตของตัวเองอย่างเหมาะสม โดยผู้ที่ทนทุกข์กับความซึมเศร้ามักไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ถูกต้อง และปฏิเสธจะเปิดอกพูดคุยถึงการเจ็บป่วยทางจิตใจของตน หยั่งผลลัพธ์คือ ความล้มเหลวที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ดี ข่าวการเสียชีวิตอันครึกโครมของนายโรบิน วิลเลียม ดาราชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็ได้จุดกระแสให้ผู้คนจำนวนมากหันมาตระหนักถึงภัยร้ายของภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายกันอีกครั้ง
“การเปิดตัวแอพพลิเคชั่นอาจช่วยให้คนสนใจและอำนวยความสะดวกแก่ขั้นตอนการรักษาสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น” หยังกล่าว