xs
xsm
sm
md
lg

จี้กลุ่มเสี่ยงสูง ทำงานในพื้นที่บ่อขยะแพรกษา เข้าตรวจสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สธ.เร่งให้ ปชช.กลุ่มเสี่ยง ทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง-ทหาร-นักข่าว เข้าตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะดับเพลิงต้องตรวจหาสารพิเศษ 5 รายการ ระบุภาพรวมสถานการณ์สู่ภาวะปกติ เผยถอนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกจากพื้นที่แล้ว

วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ สรุปผลการดำเนินงานเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ว่า ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ผลการตรวจคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย โดย สธ.ได้ยุติการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ อบต.แพรกษา และที่วัดแพรกษาแล้ว จากนี้หากประชาชนเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแพรกษา โดยนับแต่เกิดเหตุการไฟไหม้บ่อขยะจนถึงเวลานี้พบผู้เจ็บป่วย 1,328 ราย เกือบทั้งหมดมีออาการแสบคอ แสบจมูก ระคายเคืองตา ตาแดง ออย่างไรก็ตาม สธ.ยังคงเร่งให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนที่สัมผัสมลพิษตามแผนการเฝ้าระวังที่วางไว้ โดยกลุ่มเสี่ยงสูงสัมผัสมาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจาก อบต. ทหารจาก จ.ฉะเชิงเทรา และสื่อมวลชน จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดที่คลินิกโรคจากการประกอบอาชีพ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ทุกรายจะตรวจเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของตับไต ลักษณะเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะเพื่อดูการทำงานของไต เอกซเรย์ปอดและตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะเพิ่มการตรวจพิเศษ 5 รายการ ได้แก่ สารโลหะหนัก 4 ตัว ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม แมงกานีส รวมทั้งเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ทั้งขยะ บุหรี่ หรือเผาไหม้เชื้อเพลิงอื่นๆ อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระยะยาว โดยจะส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ลงพื้นที่ตรวจแล้ว 200 คน คาดว่าต้องใช้เวลาตรวจ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น ขอให้ผู้ที่อยู่ในข่ายดังกล่าวไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ในวันเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามได้ที่ 02 173 8488 นอกจากนี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่ดับเพลิง กทม.ขอให้ไปรับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม.และกลุ่มประชาชน โดยรอบบ่อขยะรัศมี 200 เมตร

ด้าน นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ประธานวอร์รูมแก้ไขปัญหามลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ ต.แพรกษา กล่าวว่า ในวันนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับกรมอนามัย เก็บตัวอย่างน้ำบาดาล 9 ตัวอย่าง น้ำผิวดิน 3 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างอาหาร 3 ตัวอย่างคือ ผัก ปลา หมูหยองจากชุมชนรอบบ่อขยะ เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน และจะประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการประกอบอาชีพร่วมกับกรมควบคุมโรค โรงพยาบาลสมุทรปราการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อวางแผนตรวจซ้ำเป็นระยะๆ ต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น