รพ.หนองบัวลำภู พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด ให้ รพช.วินิจฉัยอาหารได้ใน 30 นาที ให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันทีที่มาถึงโรงพยาบาล ฟุ้งช่วยลดอัตราการตายเหลือไม่ถึง 10%
นพ.สุทธิ ถาวรยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มอายุรกรรม โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ในฐานะประธานเครือข่ายโรคหัวใจ จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า จากการร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 จ.อุดรธานี ทำโครงการพัฒนาระบบดูแลเครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือด โดยมี รพ.หนองบัวลำภู เป็นแม่ข่ายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 5 แห่ง ให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด โดยวินิจฉัยจากอาการและคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ภายใน 30 นาที เมื่อมาถึงโรงพยาบาล และให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรค ซึ่ง รพ.หนองบัวลำภู จะจัดส่งยาละลายลิ่มเลือดไปสำรองไว้ที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 1 โดส เพื่อให้สามารถให้ยาผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการปรึกษาอายุรแพทย์ของ รพ.หนองบัวลำภู ได้ตลอดเวลา เมื่อมีผู้ป่วยต้องสงสัยโรคนี้ผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ ในการส่งภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยให้อายุรแพทย์พิจารณา
“หลังผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดที่ รพช.ภายใน 1 ชั่วโมงเมื่อผู้ป่วยมีอาการอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถส่งต่อได้ต้องส่งตัวมายัง รพ.หนองบัวลำภู เพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป หากต้องได้รับการรักษาในระดับที่สูงขึ้นจะส่งต่อไปยัง รพ.ศูนย์อุดรธานี ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับยาละลลายลิ่มเลือดทันเวลาจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้นเฉียบหลัน และเสียชีวิต ผลการดำเนินงานช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที โดยอัตราการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดภายใน 30 นาที ปี 2553 อยู่ที่ 30.77% เพิ่มขึ้นเป็น 61.11% ในปี 2554 ส่วนปี 2555 เพิ่มเป็น 67.35% และปี 2556 อยู่ที่ 73% อัตราตายเหลือ 8% จากเดิมมากกว่า 10%” นพ.สุทธิ กล่าว
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นของคลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วน ST (STEMI) ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยจัดเป็นระบบเครือข่ายบริการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ทันเวลา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมเครือข่ายกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้กว่า 320 แห่ง ส่งผลให้ในปี 2555 ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในสิทธิบัตรทองได้รับยาละลายลิ่มเลือดร้อยละ 35.22 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ได้รับยานี้ร้อยละ 17.28 ซึ่งจากฐานข้อมูลของ สปสช.ปี 2555 พบว่า มีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 9,980 ราย คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยประมาณ 27 คนต่อแสนประชากร