xs
xsm
sm
md
lg

เผยใช้ Fast Track MI ลดอัตราตายผู้ป่วยโรคหัวใจฯเหลือ 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันโรคทรวงอกเผยระบบ Fast Track MI ช่วยลดอัตราตายผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลงเหลือ 3% ฟุ้งน้อยกว่าต่างประเทศ แนะต้องทำเป็นเครือข่ายและมีระบบส่งต่อรวดเร็วช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยได้

พญ.สุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงระบบการให้บริการช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Fast Track MI) ว่า จากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 พบว่า ระบบ Fast Track MI สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้จากร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ พบว่าอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 4 โดยสถาบันโรคทรวงอกได้สร้างเครือข่ายเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยปัจจุบันมีการส่งต่อถึงร้อยละ 90 โดยมีการอบรมโรงพยาบาลเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน จ.นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยาในเรื่องของการวินิจฉัย การรักษา การเคลื่อนย้าย การส่งต่อให้ดียิ่งขึ้นการให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะโรคนี้ยิ่งรักษาได้เร็วจะยิ่งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
หากผู้ป่วยมีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันโรงพยาบาลในเครือข่ายจะต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (อีเคจี) ภายใน 10 นาที หากทำการสวนหัวใจเองไม่ได้จะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วส่งผลตรวจอีเคจีมายังสถาบันโรคทรวงอก ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลสแตนบายด์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมเวลาที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาไม่เกิน 90 นาที ซึ่งจะลดขั้นตอนต่างๆ ลงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน” ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าว

พญ.สุวรรณี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพบว่าโรคการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเมื่อปี 2555 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 200 คนจากปี 2554 ที่มีประมาณ 100 คนซึ่งเกิดจากประชาชนมีโรคความดัน เบาหวาน โรคอ้วน สูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเดิมอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบบหลอดเลือดสมองหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 17 แต่ปัจจุบันสามารถลดลงด้วยวิธีต่างๆ ทั้งป้องกัน รักษาอย่างรวดเร็วทำให้มีอัตราเหลือประมาณร้อยละ 9.8 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การรวมเครือข่ายและพัฒนาศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากกว่าการทำให้ทุกโรงพยาบาลมีเครื่องมือ MRI ซึ่งต้องพัฒนาเครือข่ายไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในปัจจุบัน สธ.ก็มีการจัดทำเขตบริการสุขภาพแล้วว่า โรงพยาบาลแห่งใดควรรับผิดชอบหรือเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาใดบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น