xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 เม.ย.-6 พ.ค.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง แจ้งความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง” ทรงประชวรพระปัปผาสะอักเสบ - คณะแพทย์ขอทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง!

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า เมื่อประมาณ 01.00น.วันที่ 28 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการไม่สบายพระองค์ ทรงมีพระกรรสะ(ไอ) เล็กน้อย หายพระทัยเร็วกว่าปกติ ทรงเริ่มมีพระปรอทต่ำๆ ต่อมาขึ้นสูง 38.8 องศาเซลเซียส การเต้นของพระหทัยเร็วขึ้นเล็กน้อย ความดันพระโลหิตลดลงเล็กน้อย

ด้านคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา ได้ตรวจพระวรกาย พบเสียงผิดปกติของพระปัปผาสะ(ปอด) และที่พระนาภี ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปรากฏว่าเหมือนเดิม ผลการตรวจทางรังสีวิทยาด้วยเครื่องเอกซเรย์และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระอุระ พบการอักเสบเล็กน้อยที่พระปัปผาสะทั้งสองข้างด้านล่าง ผลการตรวจทางรังสีวิทยาด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระนาภี ไม่มีความผิดปกติ ผลการตรวจพระโลหิต แสดงว่ามีการอักเสบ และได้ทำการเพาะเชื้อในพระโลหิต

ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานงดเสวยพระกระยาหารชั่วคราว และได้ถวายสารน้ำทางหลอดพระโลหิตร่วมกับพระโอสถปฏิชีวนะ จากนั้นพบว่า พระปรอทลดลง ความดันพระโลหิตและการหายพระทัยเป็นปกติ พระอาการทั่วไปเริ่มดีขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า คณะแพทย์ฯ รายงานความคืบหน้าพระอาการประชวรพระปัปผาสะอักเสบว่า ผลการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบการอักเสบลดลงและบรรทมได้ แต่ยังเสวยพระกระยาหารไม่ได้มาก และยังมีพระอาการอ่อนเพลียอยู่บ้าง คณะแพทย์ฯ ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิตต่อไปจนครบกำหนด พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง

2. พท. ขู่ยื่นถอดตุลาการศาล รธน. ด้านเสื้อแดงระดมพลกดดัน 8 พ.ค. ขณะที่ศาล รธน. แจ้งจับ “เรืองไกร” หมิ่น !

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ได้มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาหลายเรื่อง เรื่องแรกเป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ หลังกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2555 ซึ่งที่ประชุมตุลาการฯ ยังไม่มีมติว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และการพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ จึงเลื่อนไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามมาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับ ส.ส.และ ส.ว.รวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมตุลาการฯ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ศาลฯ ให้ยกคำขอ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีมูลเหตุฉุกเฉิน พร้อมกันนี้ศาลฯ ได้ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งให้ศาล 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายในกำหนด จะถือว่าไม่ติดใจ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณากรณีที่ ส.ส. และ ส.ว. 312 คน ไม่ได้รับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขอให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคำร้องของนายบวร ยสินทร ที่ให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยตุลาการฯ เห็นว่า ศาลฯ ได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของศาลฯ แล้ว ศาลจึงสามารถเดินหน้ากระบวนการพิจารณาต่อไปได้ ส่วนกรณีที่ 46 ส.ว. ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงนั้น ศาลฯ อนุญาต โดยให้ส่งคำชี้แจงภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่ส่งภายในกำหนด จะถือว่าไม่ติดใจ

ด้านที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย.จะไม่ส่งหนังสือชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีมติให้ส่งจดหมายเปิดผนึกไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยยังขู่ด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเดินหน้าพิจารณาคำร้องตามมาตรา 68 จะถือว่าก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าถอดถอนตุลาการฯ ต่อไป โดยขณะนี้มี ส.ส.ร่วมลงชื่อเพื่อถอดถอน 1 ใน 4 แล้ว

ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็ออกมายืนยันเช่นกันว่า จะไม่ส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมออกตัวว่า ตัดสินใจเอง ไม่ได้ทำตามมติพรรคเพื่อไทย และไม่ได้เกี่ยวกับที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกตนไปพบแต่อย่างใด

ส่วนความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) นั้น ได้มีการระดมพลเพื่อกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ลาออกในวันที่ 8 พ.ค. โดยตั้งเป้าว่าจะมีมวลชนมาร่วมชุมนุม 2-3 หมื่นคน และว่า ในวันดังกล่าว จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงบประมาณ ,ทำเนียบรัฐบาล ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และรัฐสภา

ด้าน พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พูดถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันที่ 8 พ.ค.ว่า ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุม จึงจัดเตรียมกำลังเอาไว้ให้เหมาะกับพื้นที่เท่านั้น คือประมาณ 9 กองร้อย (1,350 นาย) โดยอาจส่งไปเพียงบางส่วน และว่า ด้านการข่าวยังไม่มีอะไรน่าห่วง และไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่กดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่อดีต ส.ว.สายเสื้อแดง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็เคลื่อนไหวด้วยการยื่นหนังสือจี้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่า การทำหน้าที่ตุลาการฯ ของนายชัช ชลวร ไม่ชอบ เพราะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการฯ

ด้านสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สุดทนพฤติกรรมของนายเรืองไกรที่พยายามดิสเครดิตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ กล่าวหาตุลาการฯ และศาลรัฐธรรมนูญว่ากระทำการบิดเบือนพระบรมราชโองการ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูล และไม่ได้มีจุดประสงค์ในการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญตามสิทธิ แต่มุ่งทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของศาลฯและตุลาการฯ จึงได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีนายเรืองไกร ฐานดูหมิ่นศาล ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และ 198

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ได้มีประชาชนในนามองค์กรพิทักษ์ปกป้องมาตุภูมิแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประมาณ 100 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกดดันของคนเสื้อแดง พร้อมให้กำลังใจตุลาการฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต่อไปด้วยความเข้มแข็ง

3. “ยิ่งลักษณ์” ปาฐกถาที่มองโกเลีย อุ้ม “ทักษิณ”- ติง รธน. /องค์กรอิสระ ด้าน “ชัย ราชวัตร” เฟซบุ๊ก “กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่ว เที่ยวเร่ขายชาติ”!
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ระหว่างเยือนประเทศมองโกเลีย(29 เม.ย.)
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ครั้งที่ 7 ระหว่างเยือนประเทศมองโกเลียอย่างเป็นทางการ โดยเตือนให้ทุกประเทศระวังว่า แรงปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยไม่เคยถดถอยลดน้อยลง พร้อมยกตัวอย่างรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พี่ชายตน ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ถึง 2 ครั้ง แต่ถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ทำให้ประเทศไทยเสมือนรถไฟตกราง และประชาชนไทยต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้เสรีภาพแห่งประชาธิปไตย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ถ้าการถูกยึดอำนาจ ทำให้ตนและครอบครัวต้องเจ็บปวดฝ่ายเดียว ตนก็คงจะปล่อยวาง แต่การทำรัฐประหารทำให้ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ ขณะเดียวกันหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายก็ถูกทำลาย เสรีภาพของประชาชนก็ถูกปล้น เมื่อประชาชนกลุ่มเสื้อแดงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพคืนมา กลับถูกสลายการชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค.2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนในใจกลางกรุงเทพฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า แม้ตนจะได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว แต่ผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยยังคงอยู่ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหาร ได้ใส่กลไกตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น การที่ ส.ว.ครึ่งหนึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคนกลุ่มเล็กๆ และการที่องค์กรอิสระใช้อำนาจเกินขอบเขต เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังพูดทำนองเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ เข้ามาช่วยกดดันให้เกิดประชาธิปไตยในเมืองไทยด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังทิ้งท้ายปาฐกถาดังกล่าวด้วยว่า “ดิฉันหวังว่าความเจ็บปวดที่ครอบครัวของดิฉันได้รับ ที่ครอบครัวของเหยื่อทางการเมืองไทย และครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 91 คนในเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค.2553 ต้องเผชิญ จะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทย”

ทั้งนี้ ปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง และดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า นายกฯ ใช้วิธีการเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณใช้แสดงมาหลายปี เป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในต่างประเทศในลักษณะว่าปัญหาทั้งหมดมาจากการที่มีคนมาโค่นล้มตนเอง โดยไม่พูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ และพยายามสรุปว่า การเดินหน้าลดอำนาจองค์กรอิสระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งสุดท้ายปัญหาจะย้อนกลับมา

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า สิ่งที่ตนปาฐกถา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้แสดงความชื่นชมปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยบอกว่า เป็นการสรุปข้อเท็จจริงทางการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน แหลมคม และทรงพลัง

ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจและอดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่คนเสื้อแดงชุมนุมกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและการปาฐกาถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า เป็นหนึ่งในแผนการยึดประเทศของทักษิณและพวก “ผมเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่เข้าใจบทบาทของนายกรัฐมนตรี จึงได้นำเอาทุกข์ของตนและของพี่ชายไปเปิดเผยเป็นเชิงขอความเห็นใจในที่ประชุมนานาชาติ ที่ทุเรศที่สุดก็คือ ทุกข์ที่ว่านั้นเป็นผลของความทุจริตประพฤติมิชอบของพี่ชายตนเอง แต่ไปโยนความผิดให้คนอื่น”

พล.ต.อ.วสิษฐ ยังเชื่อด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เขียนปาฐกถาดังกล่าวเอง เพราะความรู้ภาษาอังกฤษของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงมีไม่พอที่จะเขียน “แต่ใครจะเป็นคนเขียนก็ตาม คนที่เอาไปอ่านนอกจากจะโกหกอย่างหน้าด้านแล้ว ยังแสดงความโง่ของตนด้วยอย่างแน่นอน โง่ตรงที่ไปบอกเขาว่าบ้านเมืองยังไม่สงบ แล้วก็เชิญชวนให้เขามาลงทุน และโง่ตรงที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภา คุมทั้งทหารและตำรวจ แล้วไปยอมรับว่ายังทำอะไรกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยไม่ได้... ผมเห็นว่า การขู่บังคับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญหรือพ้องกัน แต่เป็นไปตามแผนของทักษิณกับพวก ที่จะยึดประเทศไทยทั้งประเทศให้ได้เท่านั้นเอง"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในห้วงเวลาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์กันอย่างกว้างขวางนั้น ได้มีผู้นำข้อความที่อ้างว่ามาจากเฟซบุ๊กของ “ชัย ราชวัตร” หรือนายสมชัย กตัญญุตานันท์ คอลัมนิสต์การ์ตูนล้อการเมืองชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยข้อความดังกล่าวเขียนว่า “โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่ว เที่ยวเร่ขายชาติ”

ซึ่งข้อความดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้คนเสื้อแดง ถึงกับบุกไปที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จี้ให้เอาผิดชัย ราชวัตร โดยอ้างว่าหมิ่นนายกฯ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไทยรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาทำนองว่า หากชัย ราชวัตร กระทำการไม่เหมาะสมในหนังสือพิมพ์ ทางผู้บริหารพร้อมจะดำเนินการ แต่กรณีนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวทางเฟซบุ๊ก จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ส่งทนายเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ดุสิต ให้ดำเนินคดีชัย ราชวัตร ฐานหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ทำเหมือนเอาใจนายกฯ ด้วยการออกมาขู่ปิดเว็บไซต์ที่มีการด่าทอนายกฯ พร้อมเตือนผู้ที่โพสต์ข้อความด่านายกฯ จะเข้าข่ายผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ชัย ราชวัตร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ว่า ได้รับดอกไม้และกำลังใจจากมวลมิตรทะลักล้นจอคอมพ์ แต่จนปัญญาจะกล่าวขอบคุณเป็นรายบุคคล อยากจะบอกว่า ทุกๆ ชื่อ ทุกๆ น้ำใจ จะจารึกอยู่ในความทรงจำตลอดไป “A friend in need is a friend indeed ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ ขอยืนยันไว้ ณ ตรงนี้ ผมจะไม่มีวันทำให้ท่านผิดหวังในจุดยืนครับ”

4. “ภราดร” ปัด เจรจาบีอาร์เอ็นรอบสามเหลว อ้าง แค่ฟังข้อเสนอซึ่งกันและกัน นัดถกรอบหน้า 13 มิ.ย.!

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)
ก่อนที่การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยและแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น(แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) จะเปิดฉากขึ้นเป็นรอบที่สามเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ปรากฏว่า วันที่ 26 เม.ย. ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น 2 คน คือ นายฮัสซัน ตอยิบ และนายอับดุลการีม กาลิบ ได้อ่านคำประกาศผ่านเว็บไซต์ยูทูบว่า เป้าหมายในการก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อต้องการสร้างความเป็นหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชนชาวมลายูปัตตานี และได้รับอิสรภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งได้บริหารปกครองด้วยตัวเอง และว่า ขบวนการปลดปล่อยปัตตานีได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยปัตตานีจากการถูกกดขี่จากรัฐไทย ที่ยึดครองปัตตานีตั้งแต่ปี ค.ศ.1785 พร้อมย้ำว่า การโจมตีด้วยอาวุธจะยังดำเนินต่อไปจนกว่าการกดขี่จะหมดไปจากแผ่นดินปัตตานี

ตัวแทนบีอาร์เอ็น ยังประกาศด้วยว่า การเจรจาสันติภาพที่จะมีขึ้น จะดำเนินไปภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ คือ 1.รัฐสยาม(รัฐไทย) ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก 2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปัตตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นกับฝ่ายสยาม 3.ระหว่างการพูดคุย จะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี(องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) 4.รัฐสยามต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข และ 5.รัฐสยามจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) บอกว่า การเจรจาสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย. ยังคงเน้นเรื่องการลดความรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งจะสอบถามเรื่องแกนนำบีอาร์เอ็นโพสต์ข้อเสนอ 5 ข้อผ่านยูทูบด้วยว่า มีเป้าหมายใด

สำหรับตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมหารือกับฝ่ายความมั่นคงของไทย มีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นายฮัสซัน ตอยิบ ,นายอับดุลการีม กาลิบ ฯลฯ

หลังใช้เวลาเจรจา ณ สถานที่ลับ ในประเทศมาเลเซียนานกว่า 8 ชั่วโมง พล.ท.ภราดร เผยว่า การเจรจาครั้งนี้ นอกจากมีตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ยังมีกลุ่มพูโลและตัวแทนกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่เข้าพูดคุยด้วย โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เสนอ 5 ข้อที่แถลงในเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อฟังความเห็นของฝ่ายไทย ทำให้บรรยากาศการพูดคุยตึงเครียดมาก เพราะมีแค่บางข้อเท่านั้นที่ไทยรับได้ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายไทยที่อยากให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นลดการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตัวแทนบีอาร์เอ็น บอกว่า ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังทุกกลุ่มแล้ว

ทั้งนี้ พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า การเจรจาสันติภาพครั้งนี้ ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะเป็นการรับฟังข้อมูลข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน และจะมีการเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 13 มิ.ย. ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการเจรจารอบหน้า จะหยิบยกผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับข้อเสนอ 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็น ขึ้นมาพูดคุยด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการเจรจารอบสามดังกล่าว สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น โดยเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค. คนร้าย 4 คน ซึ่งใช้รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ได้ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงใส่ร้านขายของชำที่ชาวบ้านกำลังจับจ่ายซื้อของและนั่งจับกลุ่มคุยกัน บริเวณหมู่ 5 ต.รูสิมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี จากนั้นคนร้าย 2 คนได้ลงจากรถมาจ่อยิงหัวชาวบ้านเสียชีวิตรวม 6 ศพ โดยในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 3-4 ขวบรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ไม่หวังดีได้มีการโปรยใบปลิวที่ถนนสิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา ระบุว่า การก่อเหตุฆ่า 6 ศพที่ปัตานี คือการล้างแค้น โดยข้อความในใบปลิวระบุว่า “พี่น้องนักรบฟาตอนีทุกคน เราได้ล้างแค้นให้กับพวกท่านแล้ว เราตายไป 4 คน แต่เราเอาคืนมากกว่าเดิม... เราจะฆ่าทุกคนไม่เว้นเด็ก หรือผู้หญิง เราจะต่อสู้เพื่อขบวนการบีอาร์เอ็นที่ยิ่งใหญ่ของเรา...”

5. “ก่อแก้ว” นอนคุกต่อ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เหตุยังไม่สำนึกผิด!

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. จำเลยคดีก่อการร้าย
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์กรณีที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. จำเลยที่ 5 คดีก่อการร้าย ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หลังศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่านายก่อแก้วยังไม่สำนึกผิดกรณีพูดข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายก่อแก้วเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว แต่ได้ทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัว จนศาลชั้นต้นเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมานายก่อแก้วยังไม่เคยแสดงออกอย่างหนักแน่นว่าจะไม่มีพฤติกรรมผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวอีก ในชั้นนี้ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า คำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย จึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว นั่นหมายความว่า นายก่อแก้วจะต้องถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา แล้วจึงจะสามารถขอใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครองเพื่อให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวออกมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น