xs
xsm
sm
md
lg

ไขความจริง "ผีแม่ม่าย" ต้นเหตุทำผู้ชายใหลตาย !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามข่าวสาร คงได้อ่านข่าวผีแม่ม่ายออกอาละวาดจนเกิดความแตกตื่น และหวาดผวาไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะในหมู่บ้าน ต.ในเขต อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ หรือในแถบจังหวัดใกล้เคียงที่เงียบเหงาและเต็มไปด้วยความเศร้าสลด เนื่องจากชาวบ้านกำลังอยู่ในอาการหวาดผวา และเสียขวัญต่อการสูญเสียคนในครอบครัว และญาติพี่น้องที่เสียชีวิตฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นการกระทำของผีแม่ม่ายที่กำลังออกอาละวาดคร่าชีวิตผู้ชาย

นับเป็นโรคลึกลับที่คร่าชีวิตคนไทยมากว่า 100 ปี ซึ่งทำให้ชายหนุ่มที่ดูปกติแข็งแรงดี กลายเป็นศพในตอนเช้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่แปลกที่จะเห็นชาวบ้านแถบภาคอีสานนิยมทำหุ่นฟางขึ้นมา บางตัวอาจมีปลัดขิกอันใหญ่เพื่อขู่ผีแม่ม่ายมิให้มารังควาน หรือจากกรณีข่าวที่เกิดขึ้น ได้มีการนำเสื้อสีแดงมาแขวนไว้หน้าบ้าน บางหลังยังมีการเขียนข้อความไว้ด้วยว่า "บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย" ซึ่งนอกจากนี้ พวกผู้ชายบางคนยังทาเล็บมือ ทาปาก นุ่งโสร่งนอน เพื่อเป็นการแก้เคล็ดและขับไล่ผีแม่ม่ายไม่ให้มาเอาชีวิตไป ตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อน

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีมงาน Live มีข้อมูลทางการแพทย์มาให้พิจารณาควบคู่กัน ซึ่งการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหลตายนั้น ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ ได้ค้นหาสาเหตุจนพบว่า เกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่เกี่ยวกับผีแม่ม่ายแต่อย่างใด ซึ่งพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพศชาย ส่วนผู้หญิงก็พบเหมือนกัน แต่น้อยกว่้า

นพ.กุลวี เนตรมณี อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในฐานะประธานสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่าน ASTVผู้จัดการไว้ว่า การเสียชีวิตในขณะนอนหลับ จาก "โรคใหลตาย" เกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous Ventricular Fibrillation, VF) และผู้ป่วยเกือบทั้งหมดไม่มีความผิดปกติทางกายภาพของหัวใจให้ตรวจพบ นอกเหนือจากการมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกับที่พบในคนไข้ที่เสียชีวิตกระทันหัน ในยุโรปที่เรียกว่า Brugada Syndrome

สำหรับสาเหตุของโรค เป็นผลพวงมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (เท่าที่พบราวร้อยละ 30 มีความผิดปกติใน gene ที่ควบคุมการทำงานของประจุไฟฟ้าโซเดียมในระดับเซลล์) ร่วมกับความผิดปกติของการนำไฟฟ้าในผนังหัวใจด้านขวาตอนบน โดยมีพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นเหตุเสริม โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหัน คือเพศชายที่มีอาการใหลแต่รอดตาย การมีประวัติใหลตายในครอบครัว การสูญเสียโปตัสเซียม แมกนีเซียมจากร่างกาย (เช่น จากการอาเจียน ท้องร่วง กินยาขับปัสสาวะ หรือดื่ม กาแฟ ชา หรือ เหล้า ซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเช่นกัน) รวมทั้ง การมีไข้สูง การเกิดความเครียดจากการอดนอน ทำงานหนัก

นอกจากนี้ยังพบว่า สาเหตุของโรคใหลตายบางส่วนมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีในร่างกายเสียสมดุล เช่น ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งสารบางตัวออกมามากผิดปกติ รวมไปถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารหมักดอง ดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่ รวมทั้งน้ำปลา มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคใหลตายได้อย่างชัดเจน

ส่วนอาการแสดงของโรคใหลตาย มีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ เป็นลมหมดสติโดยหาสาเหตุไม่ได้ จนถึงปลุกไม่ตื่นและเสียชีวิตกระทันหัน โดยการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจนี้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนกระทันหัน เป็นผลให้กล้ามเนื้อตามตัว แขนขาเกิดอาการเกร็งและหายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายจะมีอุจจาระ ปัสสาวะราดจากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้า ริมฝีปากเขียวคล้ำและเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว หากไม่ได้รับการกู้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคใหลที่รอดชีวิต ร้อยละ 90 มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ และมีลักษณะเฉพาะ คือ มีการยกตัวของคลื่น ST เหมือนกับที่พบใน Brugada syndrome การเสียชีวิติในลักษณะเช่นนี้ยังพบได้ในภาคเหนือ (เรียกว่าหลับรวด) ในประเทศฟิลิปปินส์ (เรียกว่า Bangungut) หรือในญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่าโรค Pokkuri ความหมายของคำเหล่านี้ล้วนบ่งถึงการเสียชีวิตในขณะนอนหลับทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เมื่อแพทย์พบคนเกิดโรคใหลตาย สำคัญที่สุด คือการนวดหัวใจอย่างต่อเนื่องทันที และใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC cardioversion) กระตุกกล้ามเนื้อหัวใจให้กลับมาทำงานให้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคใหลตายในผู้ที่รอดตาย ทำได้โดยการฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (ICD) ในกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดใหลซ้ำสูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี ส่วนการรับประทานยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น อาจช่วยลดความเสี่ยงลงราวร้อยละ 50 แต่ไม่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 100 % ในบางครั้ง การเต้นระริกอาจหยุดเองได้และผู้ป่วยก็จะรอดตายได้เช่นกัน แต่ก็อาจจะเกิดสมองพิการถาวรหากขาดออกซิเจนนาน นอกจากนี้ควรงดดื่มสุรา รับประทานอาหารที่มีโปรแตสเซียม เช่น กล้วย ส้มเป็นประจำ หากเกิดไข้ ท้องเดิน อาเจียนควรรีบรักษา

ปัจจุบัน ได้มีการรักษาแนวใหม่โดยการจี้จุดกำเนิดของการเต้นผิดปกติเนื่องจากการฝังเครื่อง ICD นั้นไม่ได้เป็นการรักษาโรคเพียงแต่ป้องกันการเสียชีวิต และยังมีราคาแพง (300,000บาท/เครื่อง) และจะต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เมื่อแบตเตอรีหมด (เครื่องจะมีอายุการใช้งานประมาณ 5-7 ปี) คณะผู้วิจัยพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ยังมีการเกิดการเต้นระริกซ้ำจนเครื่องช็อคบ่อย เป็นผลให้อายุของแบตเตอรีลดลง ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยจึงเกิดปัญหาเมื่อไม่สามารถหาเครื่องใหม่ทดแทนด้วยกำลังทรัพย์ของตนเองได้

อย่างไรก็ดี นพ.กุลวี เนตรมณี และคณะผู้วิจัย ยังพบด้วยว่า ตำแหน่งของจุดกำเนิดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัว (VF) ในผู้ป่วยใหลตาย (Brugada syndrome) อยู่ที่ตอนบนบริเวณผิวนอกของผนังหัวใจด้านขวาล่าง และการใช้พลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุจี้ทำลายจุดกำเนิดดังกล่าว อาจเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาที่สามารถป้องกันการเสียชีวิตจากการเกิดการเต้นระริกซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทีมงานไม่ได้ลบหลู่ความเชื่อที่ทำตาม ๆ กันมา แต่การรู้เท่าทัน คือหนทางที่ควรจะรับทราบไว้ด้วยเช่นกัน หากพบประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคใหลตาย ประกอบกับมีอาการเป็นลม และชักบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือจู่ๆ ก็เป็นลมหมดสติไป ควรให้นึกถึงโรคนี้ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ชัดเจน โดยเฉพาะการตรวจระบบสรีรวิทยาคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ อีพีเอส ซึ่งเป็นการตรวจเฉพาะ แต่ถ้าไม่เคยมีประวัติในครอบครัวเคยเป็นโรคดังกล่าว แต่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น เป็นลม ชัก และเกร็งอยู่บ่อยๆ ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มีได้น้อย ทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการเหล่านี้ต่อไป

ข่าวโดย : ASTVผู้จัดการ LIVE




กำลังโหลดความคิดเห็น