xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจสุขภาพ ใครควรตรวจ? โดยวิธีใด? เมื่อไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
การคัดกรองทางสุขภาพ หรือการตรวจสุขภาพในปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก เป็นช่องทางทำรายได้ให้ธุรกิจทางการแพทย์มากมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นรูรั่วขนาดใหญ่ของทรัพยากรสุขภาพของชาติได้เช่นกัน
เป็นที่ทราบกันว่า ไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองทางสุขภาพใดที่สามารถให้ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือคนที่เป็นโรคบางคนอาจได้รับผลการคัดกรองที่สรุปว่าไม่เป็นโรค ทั้งที่ตนเองเป็นโรค (ผลลบลวง) ขณะที่คนปกติที่ไม่เป็นโรคอาจได้ผลการคัดกรองที่เป็นบวก (ผลบวกลวง)
รวมทั้งบางวิธีขาดหลักฐานสนับสนุนด้านประสิทธิภาพว่ามีประโยชน์ และบางวิธีมีหลักฐานชัดเจนว่ามีโทษ (เพราะนำไปสู่การตรวจอื่นๆ หรือการรักษาที่อันตรายต่อสุขภาพ)
การตรวจคัดกรองสุขภาพ เป็นการซักถามหรือตรวจเบื้องต้น เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือโรคในประชากรสุขภาพดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรค วิธีการที่นำมาใช้คัดกรองโรคหรือปัญหาสุขภาพหนึ่งๆ อาจมีได้หลายวิธี
ข้อมูลจากผลการศึกษา เรื่อง การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย (http://www.hitap.net/research/10643) จัดทำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอ มาตรการที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรอง 12 โรค/ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทยที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป ในที่นี้ขอเสนอเฉพาะการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพบางประเภท ดังนี้
ทั้งหญิงและชาย ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรคัดกรองโรคเบาหวาน โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร (fasting plasma glucose) โดยทำการคัดกรองซ้ำทุก 5 ปี
ทั้งหญิงและชาย ที่มีอายุ 31-40 ปี ควรคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี จำนวน 1 ครั้งในชีวิต ร่วมกับการให้วัคซีนหากพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน
ทั้งหญิงและชาย ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรคัดกรองหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยการคลำชีพจรทุกครั้งที่ไปรับบริการที่สถานพยาบาล หากผลผิดปกติให้ตรวจยืนยันด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
หญิง ที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปี หรือ หรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ (ในกรณีที่อายุน้อยกว่า 30 ปี) ควรทำการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตรวจภายใน (Pap smear หรือ VIA) ทุก 5 ปี
สำหรับรายการตรวจคัดกรองที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีประโยชน์ หรือไม่จำเป็นต้องตรวจในคนปกติทั่วไป เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจการทำงานของไต และตับ
ข้อเสนอข้างต้น ไม่รวมการตรวจคัดกรองในผู้ที่มีประวัติเสี่ยง การตรวจวินิจฉัยโรค การตรวจติดตามเพื่อการรักษาโรค การตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในผู้ป่วย และการตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเหล่านี้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ในการพิจารณาวิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม
แต่มีการตรวจคัดกรองที่ทำได้ง่ายๆ ไม่เปลืองตังค์ และทุกคนทำได้ด้วยตนเอง
นั่นคือ ลองตั้งคำถามต่อไปนี้ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคตหรือไม่
1. ฉันสูบบุหรี่หรือไม่
2. ฉันดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
3. ฉันขับรถเร็วหรือไม่
4. ฉันบริโภคอาหารหวานมากหรือไม่
5. ฉันบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่
6. ฉันออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือไม่
7. ฉันนอนดึกพักผ่อนน้อยหรือไม่
8. ฉันเครียดเป็นประจำหรือไม่
9. ฉันโกรธง่ายและชอบทะเลาะกับผู้คนหรือไม่
ถ้าท่านคัดกรองตนเองโดยใช้คำถามข้างต้น แล้วพบว่า “ใช่” เป็นส่วนใหญ่ นั่นแหละท่านมีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วย ต้องรีบหาทางแก้ไขเสียโดยเร็ว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น