xs
xsm
sm
md
lg

สธ.กังวลคนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่ม หวังทุกฝ่ายร่วมป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็น "วันโลกรำลึกถึงสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน" (World Day of Remembrance For Road Traffic Victims) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งทางตรง เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน และทางอ้อม เช่น ค่าใช่จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัว เป็นต้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในแต่ละปีมีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรอายุ 15-29 ปี เกิดในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง มากถึงร้อยละ 91 โดยมีประมาณ 20-50 ล้านคน ที่รอดชีวิต แต่มีความพิการตามมา หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1.9 ล้านคน
ในส่วนของประเทศไทย จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2547-2556 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนรวม 119,615 คน เฉลี่ยปีละ 11,962 คน ผลการวิเคราะห์ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตรวม 14,789 คน หรือเฉลี่ย 2 คน ในทุกๆ 1 ชั่วโมง เพศชายเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี หากจำแนกตามประเภทยานพาหนะ พบว่ารถจักรยานยนต์มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาระบบบริการเพื่อลดการเสียชีวิตและป้องกันความพิการจากอุบัติเหตุจราจร ได้มอบนโยบายให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่งให้เชื่อมโยงกัน 3 ระบบใหญ่ คือ 1. ระบบบริการก่อนถึงโรงพยาบาล หรืออีเอ็มเอส (EMS) ซึ่งมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านการอบรมอย่างมืออาชีพ ออกไปให้การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเบื้องต้นถึงจุดเกิดเหตุ อย่างรวดเร็ว และนำส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้อย่างปลอดภัย โดยได้เปิดสายด่วน 1669 ให้ประชาชนทั่วประเทศ โทรแจ้งเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมงฟรี หลังรับแจ้งจะส่งทีมแพทย์กู้ชีพพร้อมรถพยาบาลที่มีเครื่องมือช่วยชีวิตครบครัน ออกไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที
2. พัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาล โดยเฉพาะจุดแรกรับคือที่ห้องฉุกเฉิน มีเครื่องมือช่วยชีวิตที่จำเป็นครบถ้วนและห้องผ่าตัด ห้องไอซียูอย่างมีคุณภาพ เพื่อผู้บาดเจ็บทุกรายได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์พยาบาลอย่างรวดเร็ว และได้รับการผ่าตัดภายใน 30 นาที และ 3.การพัฒนาระบบการส่งต่อ โดยกำหนดให้เขตสุขภาพมีศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเป็นการเฉพาะทุกเขต เพื่อให้การดูแลรักษากรณีที่มีอาการสาหัส
ทั้งนี้ ตั้งเป้าลดอัตราเสียชีวิตในปี 2558 ลงให้เหลือไม่เกิน 18 ต่อประชากรแสนคน จากที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 22.9 ต่อประชากรแสนคน
กำลังโหลดความคิดเห็น