xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชัดนโยบายคุมบุหรี่ได้ผลสูงกว่าเงินลงทุน 12 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยผลวิจัยชี้ชัดเดินหน้านโยบายควบคุมบุหรี่ได้ผลสูงกว่าเงินลงทุนถึง 12 เท่า เร่งเดินหน้า 3 ลด 3 เพิ่ม แนะสร้างมาตรการระดับชุมชน จี้คุมร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมาย

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมแกนวิชาการด้านควบคุมยาสูบ​ระดับภาค ​ ว่า การประชุมเป็นไปเพื่อประเมินการลดการบริโภคยาสูบแบบมุ่งเป้าของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตาม “นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม” คือ ลดผู้เสพรายใหม่ ลดผู้เสพรายเก่า ลดการได้รับควันบุหรี่มือสอง เพิ่มกลไกการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ เพิ่มผู้ขับเคลื่อนระดับจังหวัด/พื้นที่ และเพิ่มนวัตกรรมควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว แกนนำวิชาการจากมหาวิทยาลัยพะเยา, ขอนแก่น, นเรศวร, สงขลานครินทร์ และ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมในการควบคุมยาสูบสูงขึ้นอีก

ด้าน นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการศึกษาการลงทุนขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในช่วง พ.ศ. 2545 - 2554  ว่า ​ การขับเคลื่อนนโยบายให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพสูงกว่าเงินที่ใช้ โดยประมาณการภาพรวมได้ผลกลับมาเป็นสัดส่วนมากกว่า 12 เท่าของเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม แกนวิชาการมีความสนใจและจะริเริ่มงานศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของมาตรการและนวัตกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบที่น่าสนใจในระดับพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและสร้างความตระหนักในระดับพื้นที่ เพื่อเลือกลงทุนในกิจกรรมควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ​

นพ.ปิยะ กล่าวว่า จากการพิจารณานโยบายที่ดำเนินการมา พบว่า การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนลด ละ เลิก และไม่เป็นนักสูบหน้าใหม่ จะเป็นต้องทำหลายๆ มาตรการพร้อมกันทั้งการเปลี่ยนสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีกฎหมายนโยบายที่เข้มแข็งจะทำให้การปฏิบัติเห็นผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการในลำดับถัดไปที่ต้องเน้นเพิ่มเติม คือ การใช้นโยบายในระดับชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถช่วยเหลือกันเองได้ เช่น ควบคุมให้ร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการไม่ขายให้เยาวชน ไม่แบ่งขาย เป็นต้น ซึ่งพบว่ามีชุมชนต้นแบบที่มีนโยบายปฏิบัติระดับชุมชนได้สำเร็จ ที่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนทำได้เองเพื่อควบคุมกันเองและลดนักสูบในชุมชน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น